'ศึกสามก๊ก' ดิจิทัลจีน 'WeChat-Alipay-Baidu'

'ศึกสามก๊ก' ดิจิทัลจีน 'WeChat-Alipay-Baidu'

เมื่อดิจิทัลดิสรัปชั่น ธุรกิจจึงต้องรีบปรับตัว เห็นได้ชัดจากฟากฝั่งของจีน ทั้งอาลีบาบา ไป่ตู๋ เทนเซ็นต์ ที่เรียกได้ว่าพัฒนาแทบจะครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ธุรกิจ เจาะลึกเรื่องใกล้ตัวอย่างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แอพสื่อสาร ที่ขณะนี้แข่งขันกันอย่างดุเดือด

ศึกสามก๊กของบริษัทจีนที่ถือได้ว่าเป็นมังกรแห่งดิจิทัลจีน ได้แก่ อาลีบาบา ไป่ตู๋ เทนเซ็นต์ (Alibaba Baidu Tencent) ทั้งสามรายถือเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลรายใหญ่ของจีนในยุคนี้ เรียกรวมกันว่า BAT การแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาบริการผ่าน Mini-Program ของแอพพลิเคชั่นหลักทั้งสามบริษัท ไม่ว่าจะเป็น วีแชท อาลีเพย์ ไป่ตู๋ (WeChat Alipay Baidu) ต่างมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นพฤติกรรม และการใช้งานของผู้บริโภคในจีนสำหรับการใช้บริการออนไลน์ที่ครบวงจรมากขึ้น

เนื่องจาก Mini-Program คือ แอพพลิเคชั่นในแอพพลิเคชั่นอีกที ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Mini-Program เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนอาจไม่ทราบและไม่รู้ตัวเนื่องจากเข้ามาในชีวิตของเราแบบเนียนๆ นั่นคือ แนวคิดเรื่องแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มหลักอีกทีหนึ่ง โดยไม่ต้องออกจากการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านั้น เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ครบวงจร หรือ One Platform ซึ่งแพลตฟอร์มชื่อดังของจีนต่างก็มี Mini-Program กันทั้งนั้น

Mini-Program ของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนที่สำคัญ ใช้งานในระดับสูงต่อเดือนเช่น WeChat Mini-Program

มีรายงานจาก Chinainternetwatch ชี้ว่า Mini-Program ของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนที่สำคัญ มีการใช้งานในระดับสูงต่อเดือน เช่น  WeChat Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟอยู่ที่เดือนละ 470 ล้านครั้ง

Alipay Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟเดือนละ 500 ล้านครั้ง ขณะที่ Baidu Smart Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟเดือนละ 270 ล้านครั้ง สำหรับบางบริษัท แพลตฟอร์ม Mini-Program กลายเป็นตัวเลือกแรกที่หลายบริการนำมาใช้ เช่น บริการเรียกรถแท็กซี่ จัดส่งอาหาร เป็นต้น

โดยเดือน มิ..ที่ผ่านมา กลุ่มแอพสำหรับบริการ Service มีอัตราส่วนที่ 26% แต่ยังไม่ใช่อันดับหนึ่ง เนื่องจากแอพใช้งานจิปาถะทั่วไปอยู่ที่ 33% ตามด้วยแอพเกี่ยวกับคลิปวีดีโอ 10% ส่วนเรื่องบันเทิงดูหนังมีบริการของ Taobao จากฝั่ง Alipay รวมถึงคนใช้งานของ Baidu Wenku ทำให้การใช้งานลักษณะบันเทิงมีสัดส่วนที่มากกว่าเช่นกัน

มีข้อมูลน่าสนใจว่า เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา บริการเกมจาก Mini-Program ของ WeChat ถือเป็นบริการหลัก มีสัดส่วนลดลงมาก ขณะที่งานบริการ งานเรียกรถและเดลิเวอรี่กลายมาเป็นตัวหลักแทน

157310901751

จากข้อมูลของ Chinainternetwatch ชี้ว่าสัดส่วนการใช้งานเกมสำหรับ Mini-Program ของ WeChat ปี 2018 มีมากถึง 36.8% กลับลดลงเหลือเพียงแค่ 13.3% เท่านั้น

ขณะที่สัดส่วนด้านอื่นๆ มีการเฉลี่ยใช้งานกระจายมากขึ้น ส่วนที่เพิ่มเข้ามามากสุดคือ คลิปวีดีโอ และการใช้ประโยชน์ทั่วไป

สถาบันข้อมูลและเทคโนโลยีสื่อสารของจีน (CAICT) ชี้ว่า WeChat มีส่วนส่งเสริมและเพิ่มบริการด้านต่าง เช่น บริการขนส่ง สื่อสาร สุขภาพ ธุรกรรมการเงิน การศึกษา และการเข้าถึงของร้านค้าปลีกในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

บริการเรียกรถรับส่ง และเดลิเวอรี่ออนไลน์ มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นการเรียกใช้บริการผ่านแอพในมือถือเป็นหลัก โดยสิ้นปี 2017 พบว่ามีผู้ใช้งานถึง 435 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 19.2% และมีถึง 287 ล้านคน ใช้บริการเรียกจองรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น 27.5%

นอกจากนี้มีรายงานของ Ant Financial Group ในเครือบริษัทลูกของอาลีบาบา ผู้ให้บริการแอพลิเคชั่น Alipay ชี้ว่า ในเวลานี้มีร้านค้ารายย่อยและผู้ค้ามากกว่า 40 ล้านแห่งในประเทศจีนที่สนับสนุนการรับชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) สำหรับคนที่อยู่อาศัยในเขตเมืองก็สามารถชำระเงินและทำธุรกรรมผ่าน Alipay ได้มากกว่า 100 บริการ อาทิ โรงพยาบาล ธนาคาร ที่จอดรถ ทางด่วน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการของ Alipay ได้รับการใช้งานในวงกว้าง

157310238061

ในส่วน Baidu มีข้อมูลชี้ว่า Baidu Tieba หรือ Baidu Feed Ad ได้รับความนิยมการใช้งานผ่านทางมือถืออย่างสูง ซึ่งถูกใช้งานในแง่โฆษณา เพื่อทำการตลาด และจะอยู่ในหน้าแรกของแอพเครือข่าย Baidu ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อยิงโฆษณาได้ทันที ซึ่งก็คือการยิงแอดในโซเชียลนั้นเอง

การแข่งขันด้านทำคอนเทนท์ที่มีการสร้างสรรค์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีความหลากหลายรูปแบบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การสร้างคอนเทนท์แบบเดิมเสียเปรียบการแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สัดส่วนคอนเทนท์ดังกล่าวจะตายไป เพียงแต่มีการคัดกรองเอาคอนเทนท์ที่มีคุณภาพเอาไว้เท่านั้น 

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะบุกตลาดจีน แอพพลิเคชั่นเหล่านี้นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ และจำเป็นต้องศึกษาอย่างยิ่งครับ