คกก.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ เห็นชอบกรอบแนวทางการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า
คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เห็นชอบกรอบแนวทางการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่ พบร้อยละ 20 สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงเจ็บป่วยโรคปอดอักเสบ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 4/2562 และให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนสหรัฐอเมริกาในปี 2556 - 2557 เพิ่มขึ้น 2 - 3 เท่า จากความอยากรู้ อยากเห็น ถูกใจรสชาติและกลิ่นควัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ โดยข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ล่าสุด ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2562 พบผู้ป่วยอาการปอดอักเสบรุนแรงมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,888 ราย เสียชีวิต 37 ราย ในส่วนของประเทศไทย เยาวชนกลุ่มอายุ 15 - 18 ปีที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มใช้บุหรี่ไฟฟ้า/บารากู่เพิ่มขึ้น 3 เท่า และจากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่พบว่าร้อยละ 20 สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าได้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า และมอบสถานพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คผยช. กล่าวว่า ประชาชนทั้งที่เป็นผู้สูบและผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือรับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า หากมีอาการหายใจถี่ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง มีไข้ หรืออาจมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทันที ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านท่าน ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเหลว ส่งผลต่อสมองของทารก เด็ก และเยาวชน ด้านความจำ สติปัญญา และพฤติกรรม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ควันและละอองควัน มีอันตรายต่อปอดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ส่วนอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า อาจมีเชื้อรา/เชื้อโรคจากนิโคตินเหลวที่ไม่ได้มาตรฐาน และสารเสพติดอื่น ๆ รวมทั้งมีรายงานการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามากถึง 2,035 ครั้ง