'บางจาก'ลุยลงทุนไบโอฮับ รับยุคอุตสาหกรรมชีวภาพ

'บางจาก'ลุยลงทุนไบโอฮับ รับยุคอุตสาหกรรมชีวภาพ

บางจากฯ เตรียมสรุปเลือกพื้นที่จัดตั้ง “ไบโอฮับ” คาด 1-2 ปีแผนลงทุนผลิตภัณฑ์ชีวภาพชัดเจน กระทรวงอุดมฯ ชูโมเดลเศรษฐกิจใหม่บีซีจีตอบโจทย์เทคโนโลยีซินไบโอ

เวทีสัมมนา “SynBio Forum 2019 ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” จัดโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ถึงแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในเวทีสัมมนาว่า บางจากกำลังเลือกพื้นที่ตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโอฮับ) คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจากธุรกิจชีวภาพของบางจากฯ ไปสู่ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงในอนาคต 

ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดและออกแบบผลิตภัณฑ์ จะได้ข้อสรุปใน 1-2 ปี และผลิตเชิงพาณิชย์ได้ใน 2-3 ปี ซึ่งจะมุ่งที่ 3 กลุ่ม คือ อาหาร วัสดุชีวภาพ และเครื่องสำอางชีวภาพ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องคัดเลือกเทคโนโลยี “Synthetic Biology” หรือ SynBio (ชีวะสังเคราะห์) ที่ใช้ในกระบวนการหมัก เพื่อให้เกิดการแปลงสภาพผลผลิตการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เส้นใย รถยนต์ นม ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ซึ่งบางจากฯ ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อคัดเลือก SynBio

“เดิมจะลงทุนไบโอฮับในอีอีซี เพราะหวังสิทธิประโยชน์การลงทุน แต่พิจารณาแล้วอุตสาหกรรมนี้มีสิทธิประโยชน์ในตัว และหากตั้งใกล้แหล่งวัตถุดิบจะเป็นเรื่องที่ดีสุด ส่วนจะไปลงทุนที่ใด เช่น กาญจนบุรี ขอนแก่น หรือ พื้นที่อื่นกำลังพิจารณา"

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า อีก 30 ปีข้างหน้าธุรกิจด้านชีวนวัตกรรม จะเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพของโลก โดยจะเป็นการสังเคราะห์โปรตีนจากพืช ด้วยกระบวนการปรับแต่ง DNA ให้มีลักษณะเหมือนโปรตีนของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นอาหาร ยา หรือเสื้อผ้า

ทั้งนี้ SynBio จะเป็น Disruptive Technology หรือเทคโนโลยี่ที่เปรียบเสมือนเครื่องมือในการออกแบบอนาคตที่จะพลิกโฉมหลายอุตสาหกรรมทั้งอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ โดยล่าสุดมีกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนจากพืช น้ำตาลและมันสำปะหลังที่นำมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์เสมือนจริงและนำมาประกอบอาหารแล้ว ช่วยลดการบริโภคเนื้อสัตว์

กลุ่มบางจากฯ ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืนมาโดยตลอด และยึดแนวการทำธุรกิจภายใต้ BCG Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมี 3 แนวหลักคือ B (Bio economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า C (Circular economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และ G (Green economy) เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

157313533082