120 วัน 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' เขย่า 'บอร์ด รสก.'
เป็นเวลาเกือบ 4 เดือน ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีผลงานที่จับต้องได้ ในทางกลับกันบางนโยบายหมิ่นเหม่ ทั้งต่อการทำหน้าที่หลายนโยบาย หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 นายศักดิ์สยาม แบ่งงานให้สองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าตัวดูแล 13 หน่วยงานหลักด้านระบบรางและทางบก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมการขนส่งทางบก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางราง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ส่วนนายถาวร เสนเนียม ดูแลหน่วยงานทางอากาศเป็นหลัก รวม 7 หน่วยงาน คือ กรมท่าอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเซีย จำกัด สถาบันการบินพลเรือน บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิจำกัด ขณะที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยฯ อีกคน ได้กำกับดูแลหน่วยงานทางน้ำ คือ กรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ทว่ายังไม่ทันเริ่มทำงาน วันที่ 2 ส.ค.62 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ส่งสัญญาณให้คณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมชุดเดิมลาออก อ้างมารยาททางการเมือง อ้างเพื่อให้การทำงานระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมทั้ง 3 คน ผู้บริหารและหน่วยงาน สอดคล้องกับนโยบายใหม่และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"บอร์ดในหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดเดิมควรแสดงสปิริตลาออก ซึ่งก็เป็นไปตามมารยาททางการเมืองเมื่อมีการแปลงเปลี่ยนรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ส่วนรัฐมนตรีใหม่จะพิจารณาแต่งตั้งบอร์ดคนเดิมกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับการพิจารณา ซึ่งหลายครั้งก็มีการแต่งตั้งบอร์ดคนเดิมกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ" นายศักดิ์สยามประกาศกร้าว
ภายหลังศักดิ์สยามส่งสัญญาณเพียง 1 วัน มีข่าวแพร่สะพัดว่านายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดการบินไทย ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากประธานบอร์ด โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอชื่อ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดคมนาคม เข้ามาเป็นประธานบอร์ดการบินไทยแทน ต่อมานายถาวร เสนเนียม ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบินไทย ระบุถึงกระแสข่าวการลาออกดังกล่าวว่ายังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากนายเอกนิติ แต่อาจมีการแจ้งให้นายศักดิ์สยามทราบแล้วก็เป็นไปได้
ว่ากันว่าเป็นข่าวปล่อย และการเดินเกมเปลี่ยนบอดร์ดรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ เสนาบดีกระทรวงสั่งปลัดเดินเกมกดดันบอร์ดทุกรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้แสดงสปิริตลาออก รวมถึงนายเอกนิติ
แต่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของการบินไทยยังไม่เห็นด้วย เพราะการบินไทยอยู่ระหว่างเสนอแผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท
ต่อมาวันที่ 6 ส.ค.2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0824/11779 ผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเรื่องแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2560 ที่กำหนดขั้นตอน แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ไว้เอย่างชัดเจน เพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลที่ดี ที่สำคัญเพื่อให้ได้กรรมการที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจ
ที่ประชุม ครม.วันที่ 6 ส.ค.2562 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอพร้อมกำชับให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ "อย่างเคร่งครัด"
จากนั้นในวันที่ 7 ส.ค.2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เรียกนายศักดิ์สยามมารับทราบถึงแนวทางการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง นายอุตตม พยายามอธิบายให้นายศักดิ์สยามเข้าใจ โดยระบุชัดเจนว่า ระเบียบใหม่ในการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามข้อกำหนดต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกำหนดของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นเสนอรายชื่อคณะกรรมการให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา นับว่าข้อกำหนดใหม่ในการคัดเลือกมีหลายขั้นตอน และผู้เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจต้องมีทักษะความสามารถเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแต่ละประเภท
นายศักดิ์สยามมีท่าทีอ่อนลง และยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงบอร์ดชุดเดิม แต่จะใช้ผลงาน เพื่อให้เป็นไปตามการประเมินผลงาน (เคพีไอ) เพื่อวัดการบริหารงาน ประสิทธิภาพองค์กร ผลกำไรขาดทุนเป็นหลัก
ดูเหมือนว่าแรงกดดันเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมจะสงบลง
แต่ต่อมาไม่รู้มีอะไรดลใจ นายศักดิ์สยาม กลับทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค 0100/1421 ลงวันที่ 27 ส.ค.2562 เรื่องการนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ส่งถึงปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม 13 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในสังกัดกระทรวงคมนาคม เสนอเรื่องต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนโยบายเร่งด่วน การแต่งตั้งโยกย้าย การใช้งบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป และวาระการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือบริษัท ให้เขาทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน
แน่นอนหนังสือฉบับนี้สร้างความอึดอัดใจข้าราชการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยามได้แบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอีก 2 คน กำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ อย่างมาก เพราะข้อความในหนังสือเปรียบเสมือนการเข้าไปควบคุมเบ็ดเสร็จในทุกหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม
ในขณะที่กระทรวงคมนาคมมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างเสนอให้ ครม.หลายโครงการ แต่โครงการที่เป็นที่จับตามากที่สุดในขณะนี้ คือ โครงการจัดซื้อฝูงบินใหม่จำนวน 38 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 156,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอีกหลายโครงการ เช่นโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 7 สายทาง มูลค่า 256,000 ล้านบาท
นอกจากนี้มีโครงการบริหารไอซีดี ลาดกระบัง 647 ไร่ เกี่ยวกับการขนส่งทางเรือ มูลค่า 4 หมื่นล้านล้านบาท ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการรถไฟฟ้าที่รอเสนอ ครม. เช่น สายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นต้น
วันที่ 15 ต.ค.2562 การบินไทยแต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คนเข้าไปแทนกรรมการตำแหน่งที่ว่าง ประกอบด้วย พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน เป็นรองประธานกรรมการและกรรมการอิสระ แต่งตั้งนายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ และแต่งตั้งนายพงษ์ชัย อมตานนท์ เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
เช่นเดียวกัน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการบริหารการบินไทย ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดวันที่ 1 พ.ย.2562 โดยการบินไทยได้แต่งตั้งพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน รองประธานกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ประธานแทน เป็นไปตามเกมที่อาจจะมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังวางแผนไว้
ลำพังนายศักดิ์สยามไม่น่าจะจัดสรรอำนาจได้ไหลลื่นได้ขนาดนี้ ที่น่าสนใจจับตาดูว่าจะดิ้นรนอย่างไรหากถูกฝ่ายค้านจับขึงพืดในสภา