กมธ.เชิญ 'กสทช.-ทีโอที' แจงเน็ตประชารัฐไม่เสร็จตามกำหนด

กมธ.เชิญ 'กสทช.-ทีโอที' แจงเน็ตประชารัฐไม่เสร็จตามกำหนด

“กมธ.ดีอีเอส” เชิญ “กสทช.-ทีโอที” แจงโครงการ “เน็ตประชารัฐ” หลังไม่เสร็จตามกำหนด “กัลยา” ชี้กระทบ “ศก.-การแพทย์ทางไกล-การศึกษา”

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ที่รัฐสภา มีกาประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส โดยได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาชี้แจงกรณีการดำเนินโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์ความเร็วสูงในพื้นที่ทุรกันดาร (เน็ตประชารัฐ) หลังจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 62 เป็นวันสิ้นสุดตามกรอบเวลาที่บริษัททีโอทีขอขยายเวลามาจาก 27 ก.ย.61 ที่ผ่านมา แต่ยังมีหลายพื้นที่ติดตั้งไม่เสร็จ และกสทช. ได้มีการยกเลิกสัญญากับบริษัททีโอทีฯ ไปแล้ว

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกรรมาธิการ ดีอีเอส แถลงว่า ทางตัวแทนของ กสทช. ได้มาชี้แจงถึงโครงการเน็ตประชารัฐว่าจะมีแนวทางดำเนินการต่อไปอย่างไร หลังจากที่ยกเลิกสัญญากับบริษัท ทีโอทีฯ ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอตรวจรับงานที่ บ.ทีโอที ทำไว้ว่ามีความคืบหน้าแค่ไหนอย่างไร เหลืองานอีกมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะมีการเปิดประมูลรับผู้ดำเนินการรายใหม่ ซึ่งกสทช. คาดว่าภายในเดือนเมษายนปี 2563 จะสามารถเปิดประมูลได้ ทั้งนี้ทางกรรมาธิการฯ เรามีความาห่วงใยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลต้องเสียโอกาส การได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือจะเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาที่เด็กๆ สามารถหาความรู้หรือเรียนออนไลน์ได้ ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

 

ประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการดำเนินโครงการไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดมีผลกระทบต่อประชาชนผู้รอใช้บริการ ดังนั้นทางกมธ.ดีอีเอส จึงได้กำชับไปยัง กสทช. และฝากไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เร่งดำเนินการให้โครงการเน็ตประชารัฐสำเร็จโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยมีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ.อีดีเอส ในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการติดตามการดำเนินโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.ดีอีเอส มีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย และหนองบัวลำภู ทั้งนี้กรรมธิการฯ​ ต้องการที่จะไปสัมผัสพื้นที่จริงที่มีการติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ต ว่าสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ความเร็วเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการดังกล่าวในอนาคตอย่างมาก