ญี่ปุ่นปรับตัวใช้ ‘เงินอิเล็กทรอนิกส์’ มากขึ้น
ผลสำรวจสถาบันวิจัยสังกัดธนาคารกลางญี่ปุ่นพบว่า ครัวเรือนในญี่ปุ่นเกือบ 20% หรือ 1 ใน 5 ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์จับจ่ายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ มากขึ้น เป็นสัญญาณว่าสังคมนิยมเงินสดอย่างญี่ปุ่นเริ่มปรับตัว
ผลสำรวจที่เผยแพร่ในวันนี้ (18 พ.ย.) ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมา ครัวเรือนญี่ปุ่นที่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เงินในแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน บัตรเดบิต จับจ่ายของราคาไม่ถึง 1,000 เยน (ไม่ถึง 278 บาท) มีประมาณ 18.5% เพิ่มขึ้นจาก 15.4% ในการสำรวจช่วงเดียวกันปีก่อน
หากเป็นครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งอายุ 20 ปีเศษถึง 30 ปีเศษ พบว่าตัวเลขดังกล่าวมีมากถึง 35.6% บ่งชี้ว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็น “สังคมไร้เงินสด” เริ่มได้ผล อย่างน้อยในกลุ่มคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า 84% ยังคงใช้ธนบัตรและเหรียญซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ หากเป็นของราคา 10,000-50,000 เยน (ประมาณ 2,776-13,883 บาท) ครัวเรือน 48.5% เผยว่าจ่ายด้วยเงินสด มีเพียง 3.4% ที่จ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมใช้เงินสดจับจ่ายสินค้า และพึ่งพาเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติหรือเอทีเอ็มเป็นหลัก เนื่องจากมีการก่ออาชญากรรมต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาหลายปี และตู้เอทีเอ็มกระจายทั่วประเทศ
ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พยายามผลักดันให้ชาวญี่ปุ่นใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานขายและช่วยธนาคารลดค่าใช้จ่ายเอทีเอ็ม โดยจูงใจคนให้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นเพราะจะได้ส่วนลด หลังจากรัฐบาลขึ้นภาษีผู้บริโภคจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
สังคมสูงวัย “อุปสรรค” ไร้เงินสด
เมื่อเดือน ส.ค. มีการเผยผลสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า แม้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศเจ้านวัตกรรมแห่งอนาคต แต่การจับจ่ายซื้อของ 4 ใน 5 ครั้งยังชำระด้วยเงินสด เทียบกับเกาหลีใต้ธุรกรรมราว 90% ผ่านระบบดิจิทัล ขณะที่สวีเดนตั้งเป้าเป็นสังคมไร้เงินสดเร็วสุดในปี 2566
เมื่อพิจารณาสังคมญี่ปุ่น ประเทศนี้อาชญากรรมและการหลอกลวงต้มตุ๋นมีน้อยมาก จนเหมือนกับไม่มีเลย ประชาชนจึงสบายใจกับการพกเงินสด
ยูกิ ฟุกุโมะโตะ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ เผยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่กลายเป็นสังคมสูงอายุมาก ประชากรกว่า 28% อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี จึงยากที่จะชักชวนให้ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีใหม่
“ความท้าทายจากนี้คือทำอย่างไรจะกระตุ้นให้คนเปลี่ยนแปลงนิสัย”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความท้าทายสำคัญในประเทศที่มีตู้เอทีเอ็มกว่า 2 แสนตู้ และร้านค้าเล็ก ๆ ส่วนใหญ่รับเฉพาะเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงจ่ายต้นทุนธุรกรรมสูง
เน้นคิดค้น ไม่เน้นใช้
ขณะที่การใช้คิวอาร์โค้ดในญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 90 แล้ว หลังจากบริษัทเดนโซเวฟพัฒนาคิวอาร์โค้ดขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่วนโซนีก็พัฒนาชิพที่ใช้ในระบบขนส่งสาธารณะและชำระเงินมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000
บัตรชำระค่ารถไฟในกรุงโตเกียวและเมืองอื่น ๆ ก็สามารถใช้กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อได้ แต่การชำระค่าบริการด้วยเงินสดยังเป็นที่นิยมมากกว่าวิธีอื่น
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่า จะฉวยกระแสที่นักท่องเที่ยวไหลทะลักเข้ามาชมโตเกียวโอลิมปิกในปี 2563 เพิ่มจำนวนเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็น 40% ภายในปี 2568 และยังมีแผนใช้คะแนนสะสมสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินผ่านดิจิทัล เป็นเครื่องมือลบเสียงครหาการขึ้นภาษีบริโภคเมื่อเดือน ต.ค.
บางทีรัฐบาลโตเกียวทำเช่นนี้เพราะต้องการลดต้นทุนการใช้เงินสดก็เป็นได้ “บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาประเมินว่า ต้นทุนในการบำรุงรักษาตู้เอทีเอ็มและดูแลการขนส่งเงินให้ปลอดภัย อยู่ที่ 2 ล้านล้านเยน (ราว 5.55 แสนล้านบาท)
เอกชนร่วมผลักดัน
งานนี้ไม่ได้มีแต่รัฐบาลโตเกียวฝ่ายเดียวที่ทำงานหนัก บริษัททั้งหลายก็พยายามส่งเสริมสังคมไร้เงินสดอย่างสุดความสามารถ ก่อนหน้านี้ ราคูเท็น ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่นประกาศใช้ระบบไร้เงินสด 100% ในสนามเบสบอลและฟุตบอลของตน
ฮิโรชิ มิกิตานิ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของราคูเท็น เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสดผ่านบล็อกว่า เขาเชื่อว่าอนาคตเป็นสังคมไร้เงินสดแน่นอน แม้แต่ในญี่ปุ่น
“สักวันหนึ่งเร็ว ๆ นี้ เงินที่เรารู้จัก ทั้งธนบัตรและเหรียญที่เราพกพากันจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เอาไว้เก็บสะสมเหมือนกับเก็บแผ่นเสียงไวนิล”
ถึงกระนั้น มิกิตานิยอมรับว่า จะเกิดสังคมไร้เงินสดได้ก็ต้องปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระบบคิวอาร์โค้ดของ "เซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิ้งส์" ยักษ์ค้าปลีกถูกแฮก จนสุดท้ายต้องยกเลิกระบบนี้ไป