'ยูเอ็นเอชซีอาร์' ห่วงผู้ลี้ภัยซีเรียล้นอิรัก
สงครามกลางเมืองซีเรียยืดเยื้อยาวนาน ประกอบกับตัวละครหลากหลาย จนยากที่ผู้คนจากส่วนอื่นๆ ของโลกจะเข้าใจได้อย่างชัดเจน ความไม่เข้าใจกลายเป็นความเพิกเฉย เรื่องราวการสู้รบ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัยไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใดกลายเป็นการรับรู้อันชินชา
ตุลย์นภา ติลกมนกุล เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโส ชาวไทย-อเมริกัน ที่ร่วมงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มาตั้งแต่ปี 2554 ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ มากมายในหลายพื้นที่ เช่น ในประเทศเมียนมา ลิเบีย เยเมน วันนี้เธอประจำการอยู่ที่เมืองโดฮุก ในเขตเคอร์ดิสถาน ประเทศอิรัก กำลังรับมือกับผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามาจากซีเรีย
เดิมที อิรักมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอยู่แล้วกว่า 3.5 แสนคน กระจายกันอยู่ใน 22 ค่ายของยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่เมื่อวันที่ 9 ต.ค. สถานการณ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียทวีความรุนแรง สัปดาห์แรกมีผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามาในอิรักถึงแสนกว่าคน
“วันที่ 8 ต.ค. ดิฉันปฏิบัติงานอยู่ตรงชายแดนอิรัก-ซีเรียพอดี เหตุเกิดวันที่ 9 สัปดาห์ถัดมามีผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในอิรักก่อนหน้านั้นแล้ว ต้องไปรับพ่อแม่จากซีเรียมาอยู่ด้วย”
ตุลย์นภา ขยายความว่า ก่อนหน้านี้ยูเอ็นเอชซีอาร์ตั้งค่าย 21 ค่ายในอิรักรองรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศตั้งแต่เกิดเหตุสงครามกลางเมืองในซีเรียและการยึดครองของกลุ่มไอเอส ค่ายใหม่แห่งที่ 22 ชื่อว่า ค่ายดาราช รองรับได้ 13,000 คน ทุกค่ายเต็มหมดแล้ว ค่ายใหม่เต็มภายใน 7 วัน
สิ่งที่น่าสะเทือนใจสำหรับคนทำงานคือกลุ่มคนผู้เปราะบางที่ต้องหนีออกจากบ้าน
"เด็กที่พลัดหลงกับพ่อแม่เยอะมาก คนแก่ที่อายุมากที่สุดคือ 101 ปี ต้องนั่งมาในรถเข็น ครอบครัวเดินเท้ายาวนานกว่า 10 วันจากซีเรียมาอิรัก แม่ลูกอ่อน เพิ่งคลอดต้องเดินเท้ามา ลูกเขาอายุแค่ 2-3 วัน แม่ก็เพิ่งผ่าตัด คนพิการก็มีเยอะ มีคนนึงไม่มีแขน ไม่มีขา ต้องให้คนอื่นแบกมา"
นี่คือความยากลำบากของกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องอพยพเพื่อเอาชีวิตให้รอด ซึ่งหน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์คือ เข้าช่วยผู้รอดชีวิตจากการเดินทางอันโหดร้ายทันทีที่พวกเขามาถึง และจัดหาที่พักพิงให้กับผู้รอดชีวิต มอบความคุ้มครองและตามหาครอบครัวคืนให้กับผู้ลี้ภัย ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในซีเรีย สร้างสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ เพื่ออำนวยประโยชน์ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การประปา มอบที่พักพิงฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเช่น เด็กเล็ก ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ มอบเต็นท์ครอบครัวเพื่อให้ความปลอดภัยและเป็นบ้านชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากเหตุรุนแรง ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์การสู้รบไม่เคยจบลงง่ายๆ เมื่อการลี้ภัยหรือพลัดถิ่นยาวนาน สิ่งที่ต้องดูแลต่อไปย่อมเกินกว่าปัจจัย 4 เช่น สิทธิในการเปิดบัญชี สิทธิในการซื้อรถ สิทธิในการทำงาน เรื่องเหล่านี้ธรรมดามากสำหรับชีวิตคนทั่วไป แต่ผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยกลับทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการดูแลด้านจิตใจ
“เคยเจอเด็ก 7 ขวบคนนึง แหงนหน้ามองเครื่องบิน เรานึกว่าเขาอยากนั่งเครื่องบิน แต่ไม่ใช่ เขากลัว เพราะเครื่องบินเคยทิ้งระเบิดใส่เขา เด็ก ๆ ควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ควรต้องหวาดระแวง เราต้องดูแลจิตใจเขาด้วย”
วิกฤติซีเรียที่ยืดเยื้อมา 8 ปี ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก 5.6 ล้านคนที่ต้องหนีและพักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน และกว่า 6.2 ล้านคน ยังคงพลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศซีเรีย คาดว่าสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับงบประมาณเพิ่มเติมอีก 965 ล้านบาท
"อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน การที่เราช่วยเขา ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ช่วยพี่น้องเราเอง เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอแต่เปลี่ยนสถานที่ยุค 70 เคยเกิดที่ใกล้บ้านเรา ยุค 2000 เกิดที่อิรัก ตอนนี้เกิดที่ซีเรียและอเมริกาใต้ การพลัดถิ่นและลี้ภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก" ตุลย์นภากล่าว
ในฐานะผู้หญิงไทยคนแรกที่เป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรียซึ่งเป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก เธอเชื่อว่า "คนไทยใจบุญ การช่วยเหลือคนนอกภูมิภาค ไม่ได้หมายความว่าต้องช่วยเป็นพันเป็นหมื่น แค่วันละ 10 บาท หมูปิ้ง 1 ไม้ก็ช่วยเหลือคนได้ เด็กตาดำๆ คนนึงไม่ว่าจะเป็นชาติอะไรเราก็ต้องช่วย ตามสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์"
สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมบริจาคเพื่อมอบความคุ้มครองและช่วยชีวิตให้เด็ก ผู้หญิง และครอบครัวชาวซีเรียปลอดภัย สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ UNHCR