พิพาทการค้าสหรัฐ-จีน ทุบ 'เศรษฐกิจ' จุดชนวน 'สงครามโลก'
ภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ จากผลพวงของการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้สถาบันการเงินและสถาบันเศรษฐกิจชั้นนำของโลกพากันวิตกกังวล ออกรายงานเตือนให้ประเทศต่างๆเร่งหาทางรับมือ พร้อมทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีโลกในปีนี้และปีหน้า
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) ประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี2563 พร้อมทั้งระบุว่า ยังมองไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเพราะการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประจำเดือนพ.ย.ของโออีซีดี ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คาดการณ์ว่า การทำกิจกรรมทางธุรกิจทั่วโลกจะขยายตัวประมาณ 2.9% ในปีหน้า ลดลง0.1% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ย. ส่วนในปี 2564 โออีซีดี คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 3.0% อีกครั้ง
“โลรองซ์ บูน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี กล่าวว่า ช่วง2ปีที่ผ่านมา โอกาสและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการดำเนินนโยบายที่ไม่แน่นอน ประกอบกับปริมาณการค้าการลงทุนที่ซบเซา
นอกจากนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี ยังบอกว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นระยะๆซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้บ้าง แต่รัฐบาลในหลายประเทศส่วนมใหญ่ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในระดับนโยบายการคลัง เช่น การลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น
บูน มองว่า ภาวะไร้เสถียรภาพด้านนโยบายการคลังดังที่กล่าวมา บวกกับปริมาณการค้าการลงทุนที่ลดลง ทำให้โออีซีดี มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราต่ำสุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2550
โออีซีดี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ที่ถือว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก จะขยายตัวแค่2.0% ในปี 2564 ถือว่าขยายตัวลดลง เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกยูโรโซน ที่ขยายตัวในอัตรา 0.7% และ 1.2% ตามลำดับ ขณะที่จีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ2ของโลก และเป็นคู่กรณีในสงครามการค้ากับสหรัฐ เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยโออีซีดี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่อัตรา 5.5% ภายในปี 2564
ขณะที่ “เฮนรี คิสซิงเจอร์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งสู่ระดับปกติ กล่าวในที่ประชุมบลูมเบิร์ก นิว อีโคโนมี ฟอรัม ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี ( 21 พ.ย.) ว่า หากสหรัฐและจีน ปล่อยให้ความขัดแย้งทางการค้าดำเนินต่อไปแบบไม่มีขีดจำกัด ผลลัพธ์อาจเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยเกิดในยุโรป
อดีตนักการทูตเบอร์หนึ่งสหรัฐ กล่าวว่า “สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุจากวิกฤติเล็กน้อยและอาวุธในปัจจุบันนี้ทรงพลังยิ่งกว่าเดิมมาก”
จีนและสหรัฐ อยู่ในวังวนของการพิพาททางการค้าระหว่างกันมา 18 เดือนแล้ว แม้เจรจากันมาแล้วหลายรอบ แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ขณะที่ความตึงเครียดในด้านอื่นยังคาราคาซัง โดยปักกิ่งโจมตีวอชิงตันเป็นระยะๆกรณีส่งเรือรบวนเวียนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่จีนถือว่าเป็นดินแดนของตน ส่วนสหรัฐ ก็วิจารณ์ศูนย์กักกันชาวอุยกูร์ของจีน และล่าสุด สภาคองเกรสสหรัฐแสดงท่าทีสนับสนุนการประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกง ด้วยการผ่านร่างกฎหมายปกป้องผู้ชุมนุม
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ วัย 96 ปี กล่าวว่า ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต แผนลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศ คือความสำคัญเร่งด่วน แต่ความขัดแย้งกับจีน วอชิงตันไม่มีความตกลงใดมาใช้เป็นกรอบทำงานกับปักกิ่งในฐานะมหาอำนาจทางทหารเลย หากสองฝ่ายต่างมองทุกเรื่องในโลกในเชิงขัดแย้ง อาจเป็นเรื่องอันตรายสำหรับมนุษยชาติ
คิสซิงเจอร์ กล่าวด้วยว่า การเจรจาการค้าเป็นแค่ประเด็นปลีกย่อย ของการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ รวมถึงความตึงเครียดเรื่องฮ่องกง และต่อข้อถามที่ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในเขตกึ่งปกครองตนเองของจีน อาจเป็น จุดเดือดของสงครามเย็นรอบใหม่หรือไม่ คิสซิงเจอร์ ตอบว่า เขาหวังว่า ประเด็นเร้าอารมณ์สูงเช่นนี้ จะหาทางออกได้ด้วยการเจรจา
คำพูดของคิสซิงเจอร์ สอดคล้องกับ “เฮนรี พอลสัน” อดีตรัฐมนตรีคลัง สมัยโรนัลด์ เรแกน ที่แสดงความเห็นว่า สหรัฐกับจีนกำลังไปผิดทาง และเตือนว่า การเพิ่มกำแพงเรื่องวีซ่า การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างผู้คน การคุมเข้มทางการค้าและเทคโนโลยี ตลอดจนความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เศรษฐกิจของสองประเทศ และของทั้งโลกทรุดลง หากโลกเผชิญวิกฤติการเงินครั้งหน้า ทุกคนจะต้องเสียใจเพราะสองยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลก ไม่มีกลไกที่จะนำมาใช้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา
ด้าน“คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะผู้นำคนใหม่ของอีซีบี เมื่อวันศุกร์ (22พ.ย.)ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงโดยแรงขับเคลื่อนหลักที่มาจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดกฏระเบียบใหม่แก่โลกในท้ายที่สุด เพราะฉะนั้น รัฐบาลทุกประเทศในยุโรปต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
“เราเริ่มจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตั้งแต่ความต้องการจากภายนอกไปจนถึงความต้องการภายในประเทศ ตั้งแต่การลงทุนไปจนถึงการบริโภคและตั้งแต่การผลิตทางด้านอุตสาหกรรมไปจนถึงการบริการ”ประธานอีซีบี กล่าวในการประชุมนายธนาคารของยุโรปที่แฟรงค์เฟิร์ต
ลาการ์ด ย้ำว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต่างพึ่งพาการค้าโลกและระบบห่วงโซ่อุปทานเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่รูปแบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ และกรณีนี้ก็ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับทุกประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน