ผู้แทนชุมชน คทช. ทั่วประเทศ ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จ “ชุมชนแม่ทา”
กรมป่าไม้เร่งขยายผลในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3,4,5 ให้จบในปี 2565
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งได้มาเป็นประธานมอบหนังสือรับรองโครงการป่าชุมชน 10 หมู่บ้าน ที่ อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ในวันนี้ กล่าวว่า ชุมชนแม่ทาเป็นชุมชนที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
ทางกระทรวงฯ จึงต้องการให้ผู้แทนชุมชน คทช. ทั่วประเทศ ได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของชุมชนแม่ทาด้วยตัวเอง ก่อนที่จะนำไปขยายผลต่อในชุมชนของตนเอง
"ถ้าได้มาฟังจากปากกันเอง น่าจะเชื่อกว่าการได้ยินจากเจ้าหน้าที่บอก จึงเป็นที่มาของงานวันนี้ ที่นี่ไม่ใช่แค่ทำเสร็จ แต่ทำสำเร็จ พี่น้องอยู่ดีกินดี ป่าก็อยู่ได้ เลยอยากให้มาดูว่าที่ คทช.ทำแล้วสำเร็จเป็นอย่างไร เราดูแลป่า แล้วป่าดูแลเราได้อย่างไร แล้วความสำเร็จเกิดขึ้นจากอะไร
"...การทำงานตามกรอบ คทช.ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ แต่เอาหลักฐานมาให้ดูกันว่า คทช. ทำได้ ทำสำเร็จ แล้วได้ประโยชน์อย่างไร" นายวราวุธกล่าวระหว่างพบปะพูดคุยกับผู้แทนชุมชนในงาน
นายวราวุธกล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ และในขณะเดียวกันก็ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอยู่แล้วอย่างไม่ถูกต้อง จึงได้แถลงนโยบายของรัฐบาลไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดที่ดินของชุมชน ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของราษฎรและการรุกล้ำเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยอนุญาตให้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องในลักษณะแปลงรวม
นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อปี 2557 เพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรให้สามารถอยู่อาศัยทำกินในที่ดินของรัฐได้ถูกต้องตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท ซึ่งปัจจุบันได้มีการตราและประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แล้ว
พื้นที่รัฐทุกประเภทกว่า 22 ล้านไร่มีคนอยู่อาศัยเกือบสิบล้านคน โดยพื้นที่ป่าภายใต้การดูแลของกระทรวงไม่ว่าจะเป็น ป่าตามกม.ป่าไม้ ป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ มีอยู่ราว 12.9 ล้านไร่ คนอยู่อาศัยราว 5 ล้านคน
“การดำเนินงานของ คทช. ช่วยให้ราษฎรได้รับการแก้ไขปัญหาให้อยู่อาศัยทำกินได้อย่างถูกต้อง ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันชุมชนและหน่วยงานรัฐได้ร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืนในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ เกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐในการฟื้นฟูสภาพป่าส่งผลให้พื้นที่ป่าของประเทศเพิ่มขึ้นตามคำกล่าวที่ว่า รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน” รมว.ทส. กล่าว
อธิบดีกรมป่าไม้ อรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า กรมป่าไม้ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในลักษณะของการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในป่าสงวนแห่งชาติอยู่แล้วในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 เป็นกลุ่มแรก โดยการอนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวม ไม่บุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม ไม่ให้ซื้อขาย จำหน่าย จ่ายโอน แต่ให้ตกทอดถึงลูกหลานได้
ในปีแรกของการดำเนินการ กรมป่าไม้จัดที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 ไปได้ประมาณ 1.3 ล้านไร่ และมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมด 5 ล้านกว่าไร่ในปี 2565
สำหรับป่าชุมชนแม่ทา เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดีแต่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา จึงเป็นพื้นที่นำร่องของ คทช.ในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทาเป็นแห่งแรกของประเทศ
นายอรรถพลกล่าวว่า กรมป่าไม้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2557 โดย คทช. มีมติเห็นชอบให้นำพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทาจัดที่ดินทำกินได้ และในวันที่ 2 เมษายน 2558 กรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จังหวัดเชียงใหม่เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน รวมเนื้อที่ 7,282 ไร่
ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้ชุมชนทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชนไว้ใช้สอยไม้ในอนาคตภายใต้โครงการ ผังชีวิต ผังชุมชนตำบลแม่ทา
“ชุมชนบ้านแม่ทา ถือเป็นชุมชนต้นแบบตามนโยบาย “ไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า” ที่สามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพราะชุมชนได้เข้าร่วมศึกษาและกำหนดเขตพื้นที่ป่าและที่ดินทำกินร่วมกับส่วนท้องถิ่น ลดการทำลายและรักษาทรัพยากรไว้ ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนบ้านแม่ทามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสมดุลและยั่งยืนในวิถีของชุมชนและธรรมชาติ” นายอรรถพลกล่าว