เตือน ‘แบนบุหรี่ไฟฟ้า’ ทำคนตกงานนับแสน
กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐเตือน หากรัฐบาลสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่น อาจส่งผลให้คนตกงานกว่าแสนคนและกระทบยอดขายตรงราว 2.53 แสนล้านบาท
สมาคมเทคโนโลยีบุหรี่ไฟฟ้า (วีทีเอ) เผยแพร่รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า แผนออกคำสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าของรัฐบาลสหรัฐ อาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างหากมีการบังคับใช้ โดยจะกระทบยอดขายตรงถึง 8,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.53 แสนล้านบาท) และทำให้พนักงานในอุตสาหกรรมนี้ถูกเลิกจ้างกว่า 1.5 แสนคน
รายงานที่บริษัทจอห์น ดันแฮม แอนด์ แอสโซซิเอตส์ จัดทำให้กับสมาคมวีทีเอ ระบุว่า หากคำสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่นมีผลบังคับใช้ ร้านบุหรี่ไฟฟ้าอิสระส่วนใหญ่จากทั้งหมด 13,480 แห่งทั่วประเทศสหรัฐ จะต้องปิดกิจการลง และจะสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.77 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ วีทีเอซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,000 ราย เป็นตัวแทนของบรรดาผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผู้ค้าปลีกและตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐ
ในการพบปะหารือกับกลุ่มตัวแทนจากภาคสาธารณสุขและอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อวันศุกร์ (22 พ.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่นและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า อาจทำให้ประชาชนหันไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้าแบบผิดกฎหมายแทน
นายทรัมป์ย้ำว่า รัฐบาลของเขากำลังพิจารณาเพิ่มอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเป็น 21 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังวางแผนที่จะห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ปรุงแต่งกลิ่น หลังจากเกิดการระบาดของโรคปอดที่มีสาเหตุมาจากการสูดไอระเหย ซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยมากกว่า 450 คน และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนในสหรัฐ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
กลุ่มสนับสนุนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีจุดดึงดูดจากรสแต่งกลิ่น และการเพิ่มขึ้นของโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า
ผลสำรวจล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) พบว่า มีนักเรียนมัธยมปลายชาวอเมริกันกว่า 27.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 20.7% ในปี 2561 และมีหลักฐานบ่งชี้ว่ากลุ่มเยาวชนสุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารนิโคตินที่เป็นผลเสียต่อพัฒนาการทางสมอง และทำให้พวกเขามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเสพติดนิโคตินในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าต่างคัดค้านการสั่งแบน โดยให้เหตุผลว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ผลิตสำหรับเด็กอยู่แล้ว และจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้