กท.กษ. เสนอแนวทางเลื่อนการแบนสารพิษเกษตรออกไปอีก 6 เดือน
เปิดเอกสารรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศกระทรวงฯ รองรับการแบนสารฯ พบความผิดปกติ มีการนำเสียงคัดค้านการแบนสารพิษฯของกลุ่มเกษตรกรมารวมกับการรับฟังฯ
โดยเว็บไซต์ข่าว The Paper Thailand ได้รายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมลงนามเอกสารของ “คณะทำงานพิจารณาแนวทางผลกระทบเกษตรกร ในการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาผลกระทบอีกครั้ง ก่อนที่รมว.อุตสาหกรรม ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม แบน 3สารเคมี ซึ่งมีหมายกำหนดการประชุมของคณะกรรมการฯ ในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยกรมวิชาการเกษตร เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 6 เดือน เนื่องจากการจัดเก็บสารเคมี มีกว่า 28,000 ตัน ทำไม่ทันในระยะเวลา 30วัน
โดยจะเสนอเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับเอกสารลับที่กรมวิชาการเกษตร ได้สรุปผลรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ พ.ศ….
ซึ่งพบว่า;
-แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ กรมวิชาการเกษตร เห็นด้วย 12,139 ราย ไม่เห็นด้วย 17,256 ราย รวม 29,395 ราย
-แสดงความคิดเห็นผ่านแบบแสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 4 ราย, ไม่เห็นด้วย 1,863 ราย รวม1,867 ราย
-แสดงความเห็นผ่านทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เห็นด้วย 0 ,ไม่เห็นด้วย 13,441 ราย รวม 13,441 ราย
-แสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เห็นด้วย0, ไม่เห็นด้วย 4,086 ราย รวม4,086 ราย
สรุปผลความเห็นทั้งหมด ณ วันที่ 14 พ.ย.2562 เห็นด้วย 12,143 ราย, ไม่เห็นด้วย 36,646 ราย รวมผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 48,789 ราย
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะนำแนวทางเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3ชนิด เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย จากที่ได้รวบรวมผลกระทบ สรุปรวมเป็นค่าชดเชยทั้งสิ้น 33,417 ล้านบาท
โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 600,000 ราย แบ่งเป็น พาราควอต และไกลโฟเซต คิดเป็นค่าชดเชยทั้งสิ้น 32,867ล้านบาท โดยผู้ปลูกอ้อยจะได้รับค่าชดเชยต่อไร่และรวมสูงสุด คือไร่ละ 4,136 บาท รวม 9,650ล้านบาท ในขณะที่พืชอื่นๆ ไจะได้ค่าเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาท
จำแนกเป็น;
-เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 1,114 บาท รวม 7,807 ล้านบาท
-อ้อยพื้นที่ 2.33ล้านไร่ ไร่ละ 4,136 บาท รวม 9,650 ล้านบาท
-มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ1,167 บาท รวม 3,550 ล้านบาท
-ยางพารา พื้นที่ 2.85 ล้านไร่ ไร่ละ 1,725 บาท รวม 4,922 ล้านบาท
-ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 1.92ล้านไร่ ไร่ละ 1,766 บาท รวม 3,396 ล้านบาท
-ไม้ผล อื่นๆพื้นที่ 1.81 ล้านไร่ ไร่ละ 1,950 บาท รวม 3,545 ล้านบาท
สำหรับคลอร์ไพริฟอส มีค่าชดเชย ทั้งสิ้น 550 ล้านบาท โดยผู้ปลูกข้าวโพดจะได้รับค่าชดเชยต่อไร่และรวมสูงสุดคือ ไร่ละ 79 บาท รวม 434 ล้านบาท
แบ่งเป็น;
-ผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 79 บาท ค่าชดเชย 434 ล้านบาท
-ผู้ปลูกอ้อย พื้นที่ 2.33 ล้านไร่ ไร่ละ 22 บาท รวม 51 ล้านบาท
-มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ 21 บาท ค่าชดเชย 65ล้านบาท
-ไม้ผล พื้นที่ 1.81 ล้านไร่ (ไม่ชดเชย เนื่องจากทุนสารทางเลือกใกล้เคียงกัน)
-ผู้ปลูกไม้ดอก พื้นที่ 15,000 ไร่(ไม่ชดเชย ต้นทุนสารทางเลือกใกล้เคียงกัน)
-กลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ (ไม่รวมข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง )พื้นที่ 205,000 ไร่ ไร่ละ 28บาท ค่าชดเชย 6 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน BioThai ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรนำของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการรับฟังความคิดเห็นที่นำเสียงคัดค้านการแบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิดของกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มมารวมในการรับฟังฯ ว่า มีการเอารายชื่อผู้คัดค้านการแบน 3 สาร จากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และชมรมอาสาคนรักแม่กลอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังออกมาคัดค้านการแบนสารฯ มารวมกับตัวเลขรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซท์ของกรมวิชาการเกษตร
“การระดมความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ที่ดูพิลึกพิลั่นแล้ว แต่การเอาตัวเลขภายนอกจากกลุ่มต้านการแบนมารวมดื้อๆ ยิ่งอัปลักษณ์มากขึ้นไปอีก
"...ประชาชนจะรับมติการทบทวนและยืดการแบนด้วยกระบวนการแบบนี้หรือ?" ไบโอไทยตั้งคำถาม