“สุริยะ”เผยเบื้องหลัง เลื่อนแบน 3 สารเคมี
คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้เลื่อนการใช้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส จาก 1 ธ.ค.นี้ เป็น 1 มิ.ย.2563
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า หลังการประชุมดังกล่าวมีความเห้นแย้งเรื่องมติที่ประชุมที่อาจจะไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งได้มีการสอบถามนักกฎหมายเกี่ยวกับการลงมติยืนยันได้ว่ามติมีผลบังคับใช้ โดยก่อนที่จะมีการลงมติได้ให้กรรมการในที่ประชุมอภิปรายความเห็น ซึ่งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขก็มีการแสดงความเห็นก่อนการสรุปมติ โดยเมื่อสรุปมติทั้งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทนกรมวิชาการเกษตรต่างเห็นด้วยกับมติ
รวมทั้งมีการสอบถามกรรมการในที่ประชุมเกี่ยวกับมติและมีการเขียนมติร่วมกัน โดยยืนยันในฐานะประธานได้สอบถามที่ประชุมว่าเห็นด้วยกับมติหรือไม่ ซึ่งการพูดด้วยวาจาอาจจะต่างคนต่างคิด จึงกำหนดให้ในที่ประชุมขึ้นกระดานมติการเลื่อนบังคับใช้การแบนสารเคมี เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและสรุปมติออกมาตรงกัน
โดยเมื่อเขียนมติเสร็จก็ได้สอบถามที่ประชุมอีกครั้ง และมีการแสดงความเห็น เช่น ขอให้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าเลื่อนไปถึงเมื่อไหร่จากที่ช่วงแรกระบุเพียงให้เลื่อนออกไป 6 เดือน และเมื่อส่วนใหญ่ไม่เห็นแย้งกับมติที่ขึ้นกระดานจึงสรุปให้มีการเลื่อนจากวันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 ดังนั้นกรรมการทุกคนจึงเห็นมติที่ประชุม
"ที่ประชุมเห็นว่าควรเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพื่อดูผลกระทบ จึงชัดเจนในที่ประชุมว่าให้เลื่อน และกรมวิชาการเกษตรก็ยอมรับ”นายสุริยะ กล่าว
การดำเนินการดังกล่าวทำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้พิจารณาเรื่องนี้โดยดูผลที่เกี่ยวข้องกับ 4 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ 2.ภาคเกษตร 3.ภาคเอกชน 4.ผู้บริโภค
ในขณะที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกิดจากการพิจารณาร่วมกันของหลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นร่วมกันในที่ประชุม เพราะการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นการดำเนินการในรูปคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ร่วมถึงผู้แทนในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ
หลังจากนั้นได้มีการตั้งอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อสรุปมติที่ประชุมเพื่อส่งให้กรรมการทุกคนรับรอง โดยถ้ามีการสงสัยมติที่ประชุมดังกล่าวจึงสามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นการสรุปมติที่ผ่านขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง รวมทั้งมติที่ประชุมก่อนวันที่ 27 พ.ย.มีการรับรองมาตลอดทุกครั้ง ซึ่งมติวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ส่วนมติวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้จำกัดการใช้สารเคมีดังกล่าว และเมื่อมีการรับรองมาตลอดทำให้วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ยังไม่มีการเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด
การที่มีผู้ออกมาแสดงความเห็นว่ามติที่ประชุมไม่ถูกต้องและต้องกลับไปใช้มติวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และพร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดของการประชุมก่อนที่จะมีมติเลื่อนการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด
นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้พิจารณาข้อมูลกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าไม่แบนทั้ง 3 ชนิด และให้จำกัดการใช้เฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นและใช้ในพืช 6 ตัว เช่น อ้อย ปาล์ม มัน ยาง ข้าวโพด ซึ่งมีการชี้แจงที่ประชุมว่าการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากมีประเทศที่ยังใช้ 161 ประเทศ และมีประเทศที่ห้ามใช้เพียง 5 ประเทศ ดังนั้นจะหาเหตุผลใดในการแบนสารไกรโพรเซต รวมทั้งหากประเทศไทยห้ามใช้สารไกรโฟเซตจะต้องควบคุมไม่ให้มีสารดังกล่าวตกค้างเลย แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐที่ยังใช้สารไกลโฟเซต
ในขณะที่มีหลายประเทศทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐ กระทรวงเกษตรสหรัฐ สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา
ทั้งนี้ หากมีการห้ามนำเข้าถั่วเหลืองจะเกิดปัญหาถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มาก รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อชี้แจงว่าจะกระทบการค้าระหว่างประเทศทั้งระบบ 800,000 ล้านบาท เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบจะปรับตัวไม่ทัน
นอกจากนี้ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้คัดค้านในช่วงแรกเพราะต้องการให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรดังกล่าวทันที แต่ได้ชี้แจงถึงผลกระทบต่อเนื่องและมีข้อสรุปไม่แบนสารไกรโฟเซตและจำกัดการใช้ รวมทั้งเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพราะยังมีสารเคมีดังกล่าวในตลาดปริมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,000 ล้านบาท หากดำเนินการทันทีจะสร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรและร้านค้าจึงมีมติให้เลื่อนการแบนออกไป
รวมทั้งได้รายงานในที่ประชุมว่าหากมีการยืนยันยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสารเคมีดังกล่าวที่นำเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นหากภาครัฐจะยึดสินค้าที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายมาทำลายจะต้องใช้วิธีการซื้อคืน ซึ่งจะต้องมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องมีการให้เวลา 6 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ