สร้างความตระหนักรู้ PM2.5 เด็กประถมฯ พร้อมรับวิกฤตฝุ่นละออง
ม.สวนดุสิต ลงพื้นที่ให้ความรู้ เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ สร้างความตระหนักดูและตัวเอง ในวิกฤตสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงปลายปี ที่มีค่าสูงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึง กิจกรรมส่งเสริมทักษะป้องกันมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) โดยมี ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานคณะกรรมการความปลอดภัยฯ
ได้ตระหนักถึงความสำคัญวิกฤตสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากสภาพปัญหาคุณภาพอากาศในช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม
และช่วงต้นปีประมาณเดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ พบสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
มีค่าสูงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตามเกณฑ์การวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีมาตรการในการจัดการ เฝ้าระวัง และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น
โดยมุ่งเน้นส่งเสริมองค์ความรู้ผ่านการ มีส่วนร่วม การฝึกปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างทักษะแนวปฏิบัติส่วนบุคคลในการป้องกันมลพิษฝุ่น PM 2.5 และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในเบื้องต้นให้แก่นักเรียน ซึ่งมีกิจกรรมทั้งหมด 6 ฐาน อาทิ ฐานที่ 1 PM 2.5 คืออะไร ฐานที่ 2 ผลกระทบทางสุขภาพของ PM 2.5 ฐานที่ 3 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ฐานที่ 4 ทักษะการป้องกันตนจากมลพิษ PM 2.5 ฐานที่ 5 การเฝ้าระวังมลพิษ PM 2.5 ด้วยตนเอง และฐานที่ 6 กระบวนการติดตามตรวจสอบมลพิษ PM 2.5
ภารกิจข้างต้น ได้ดำเนินการแบบ บูรณาการร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ และกองประชาสัมพันธ์ และถือเป็นการสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยสวนดุสิตสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สวย สะอาดและใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Clean & Green University)