‘ทูตพาณิชย์’ เปิดปม สหรัฐซ่อนเร้นตัด ‘จีเอสพี’
หลังสหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าสินค้าไทยภายใต้โครงการ Generalized System Preference สินค้าไทย 573 รายการ ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2563 ด้ายเหตุผลเรื่องแรงงาน "เกิดคำถามมากมายว่า เหตุที่อ้างสอดคล้องกับผลที่เกิดหรือไม่"
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี เผยผลวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างไทยและสหรัฐว่า จากการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน แต่ท่าทีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ของสหรัฐ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
จากก่อนหน้านี้ที่ไทยเคยถูกรัฐบาลสหรัฐสอบสวนกรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรมมาแล้วในช่วงต้นปี 2560 ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลสหรัฐยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการทางภาษีนำเข้าที่ชัดเจนใดๆ เพื่อกดดันให้ไทยเร่งหามาตรการในการลดมูลค่าการค้าที่เกินดุลสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศที่จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าสินค้าไทย ภายใต้โครงการ Generalized System Preference สินค้าไทย 573 รายการ ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2563 โดยอ้างเหตุผลมาด้านสถานการณ์สิทธิแรงงาน และสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุผลดังกล่าวดูเหมือนจะสวนทางกับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Person Report หรือ TIP) โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ (U.S. Department of State) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย.2562 ที่จัดอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่ม 2 (Tier 2) หรือประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย ป้องกันเหยื่อการค้ามนุษย์ (The Trafficking Victims Protection Act หรือ TVPA) ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยยะ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ทั้งนี้อันดับดังกล่าวเป็นอันดับสูงสุดที่ไทยเคยได้รับการจัดอันดับ และเป็นกลุ่มเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี และสิงคโปร์ เป็นต้น
"หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยไม่เร่งพยายามหาทางแก้ไข หรือเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างเร่งด่วน อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยเฉพาะภาคการผลิตไทยที่พึ่งพาการส่งออกในอัตราค่อนข้างสูง"
นอกจากนี้สหรัฐยังมีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงรอการพิจารณา แม้ว่าจะเลยกำหนดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2562 ไปแล้วก็ตาม หากสหรัฐตัดสินใจเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ในอนาคตก็อาจจะส่งผลกระทบทางตรงต่อผู้ผลิตในยุโรปและเอเชีย
รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ผู้ผลิตทั้งในยุโรปและเอเชีย และอาจจะส่งผลทำให้เกิดภาวะการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ได้ในอนาคต
รายงานดังกล่าวได้ระบุถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า สภาวะการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยรวมถือเป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด รวมถึงประเทศไทยในการช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และเพิ่มสัดส่วนการครองตลาดมากขึ้น โดยสินค้าไทยหลายรายการถือเป็นสินค้าในกลุ่มทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีนที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และภาษีตอบโต้การอุดหนุน
ในส่วนของการเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากการพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีนั้น จากปัจจุบันสหรัฐวางท่าทีทางการค้าและการกำหนดนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อประเทศคู่ค้า ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐของไทยที่มีส่วน เกี่ยวข้องในส่วนงานการเจรจาในระดับนโยบาย ควรพิจารณาใช้กลยุทธ์การเจรจาแบบประนีประนอม (Compromise Strategy) ในการหาทางออกร่วมกันกับสหรัฐ ในลักษณะ Win-Win เพื่อลดผลกระทบและความขัดแย้งทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับจีนในช่วงที่ผ่านมา
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ วันที่ 20 พ.ย.นี้ ประเทศไทย นำโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี รวมถึงสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ และทูตแรงงาน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลัง พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ในระหว่างการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 35 โดยไทยขอให้สหรัฐพิจารณาทบทวนจีเอสพีอีกครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกัน
ล่าสุดรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.62 ทีมไทยแลนด์ได้เข้าพบหารือกับยูเอสทีอาร์ และกำหนดจะประชุมผ่านทางไกล (วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์) ร่วมกัน ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้
"หากไล่เรียงท่าทีของสหรัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็พอจะบอกได้ว่า เรื่องนี้มีสิ่งที่ซ่อนเร้น อยู่ที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กลายเป็นว่าได้สิ่งหนึ่งมาแต่เสียอีกสิ่งไป"