‘ประชุมโลกร้อน’ ความพยายาม 27 ปีที่สูญเปล่า?
ในขณะที่ผู้นำโลกร่วมการประชุมโลกร้อนที่สเปนกันในสัปดาห์นี้ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามในเวทีดังกล่าวที่จัดมาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แทบไม่ช่วยให้สภาพภูมิอากาศของโลกดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำสถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลง
สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก สมัยที่ 25 หรือ “คอป 25” ในกรุงมาดริดเมื่อวันจันทร์ (2 ธ.ค.) โดยมีผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมหารือ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ บรรลุข้อตกลงแผนปฏิบัติการ ที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงปารีส 2018” ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมซึ่งจะมีจนถึงวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ว่า หากทั่วโลกไม่ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ลงอย่างมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงปารีส 2015” ภายในสิ้นศตวรรษนี้
ข้อมูลจากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่า ระดับของก๊าซดักความร้อน ในชั้นบรรยากาศโลก สูงสุดเป็นสถิติใหม่ ในระยะเวลาอย่างน้อย 3 ล้านปี เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าในปัจจุบันประมาณ 10-20 เมตร
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ยูเอ็นเริ่มจัดประชุมสุดยอดเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งแรกในนครรีโอเดจาเนโรของบราซิล เมื่อปี 2535 ทั่วโลกกลับมีการปล่อยก๊าซดักความร้อนมากขึ้น อุณหภูมิร้อนขึ้น และเกิดภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศสุดขั้วหลายร้อยครั้ง เช่นเดียวกับไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลายซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
สิ่งที่สะท้อนว่าสถานการณ์โลกร้อนเลวร้ายลง ไล่ตั้งแต่องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ โนอา (NOAA) ระบุว่า ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทะยานจาก 358 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) มาแตะที่เกือบ 412 ส่วนในล้านส่วน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากโครงการคาร์บอนโลก (โกลบอล คาร์บอน โปรเจค) ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรม พุ่งจาก 6,060 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2535 มาอยู่ที่ 9,870 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2560 นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 63% ในช่วง 25 ปี
ขณะเดียวกัน อุณหภูมิทั่วโลกก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของโนอาระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.57 องศาเซลเซียสในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา
โนอาเผยว่า หากนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2536 เกิดภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศ 212 ครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสหรัฐอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อครั้งเมื่อปรับตามเงินเฟ้อ ยอดความเสียหายรวมอยู่ที่ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์และคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1 หมื่นคน เฉลี่ยแล้วเกิดภัยพิบัติ 7.8 ครั้งต่อปีนับตั้งแต่ปี 2536 เทียบกับ 3.2 ครั้งต่อปีตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2535
ดัชนีความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตั้งแต่ปี 2535 ถึง 2561 ดัชนีนี้จะประเมินจากอุณหภูมิที่ผิดปกติอย่างมาก ความแห้งแล้ง และภาพรวมของฝนแล้งและฝนตกหนักผิดปกติ
ข้อมูลของโนอาบ่งชี้ว่า 9 ใน 10 ของพายุเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายต่อสหรัฐมากที่สุด เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2535 ขณะที่ขนาดของพื้นที่ไฟป่าในสหรัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากค่าเฉลี่ย 5 ปีซึ่งอยู่ที่ 8.35 ล้านไร่ในปี 2535 มาอยู่ที่ 19.2 ล้านไร่ในปี 2561
ส่วนผลกระทบต่อน้ำแข็งขั้วโลก ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐ ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการขยายตัวของน้ำแข็งทะเลอาร์กติกทางขั้วโลกเหนือ หดตัวลงจาก 12.1 ล้านตร.กม. ในปี 2535 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตร.กม.ในปี 2562
นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ เผยว่า แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายหายไป 5.2 ล้านล้านตันตั้งแต่ปี 2536 ถึง 2561 และผลการศึกษาในวารสารเนเชอร์ชี้ว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกทางขั้วโลกใต้หายไป 3 ล้านล้านตันตั้งแต่ปี 2535 ถึง 2560
เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายย่อมส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก ข้อมูลของโนอาระบุว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.9 มิลลิเมตรต่อปีนับตั้งแต่ปี 2535 หรือคิดรวม 27 ปีจนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 78.3 มิลลิเมตรแล้ว
ถึงแม้ กูเตร์เรส ซึ่งสนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน กล่าวกระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกไม่ให้ “ยอมแพ้” ในการสู้กับปัญหาที่กำลังคุกคามสุขภาพและความปลอดภัยของพลเมืองโลก แต่ต้องไม่ลืมว่า โลกรอรัฐบาลจัดการเรื่องนี้มาเกือบ 30 ปีแล้วและควรมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมกว่านี้
ที่สำคัญ ประเด็นโลกร้อนเป็นปัญหาของประชากรโลกทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข แทนที่จะรอให้รัฐบาลลงมือหาทางออกอยู่ฝ่ายเดียว