‘ผอ.ซูเปอร์โพล’ เดือด! ‘เนติวิทย์’ อย่าล้ำเส้นกันเลยคนเก่ง!
“ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล” แจงเหตุทำโพลตามหลักวิชาการ เมินคำท้า "เนติวิทย์" ให้ทำประชามติ เดือดอย่าล้ำเส้นกันเลยคนเก่ง!
จากกรณี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยต่อผลสำรวจความเห็นของ "ซูเปอร์โพล" พร้อมท้าทายให้ทำประชามติเนื่องจากไม่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ จะหนุนเรื่องให้เกณฑ์ทหารตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.62 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ออกคำชี้แจงเรื่อง อย่าล้ำเส้นเลย เนติวิทย์ คนเก่ง
ระหว่างที่ผมเดินทางต่างประเทศก็ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิดเพราะทำงานด้านข้อมูลเกาะติดเสียงของประชาชนมาร่วม 30 ปี และบังเอิญเจอข่าวของเนติวิทย์ คนเก่งของคอการเมืองให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลโพล นักการเมืองกับการยกเลิกเกณฑ์ทหาร มีใจความสำคัญว่าผลสำรวจของ ซูเปอร์โพล ตรงกันข้ามกับ ผลสำรวจของ เนติวิทย์โพล ย้อนแย้งกันมากอย่างน่าตกใจ แต่ผมกลับคิดว่า ไม่แปลกที่ เนติวิทย์คนเก่งจะรู้สึกอย่างนั้น และที่จริง ผลโพลเราทั้งสองไม่น่าจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อต่อไปนี้
1) ถ้า ซูเปอร์โพล ทำโพลด้วยมาตรฐานเดียวกันกับ เนติวิทย์โพล ผลไม่น่าจะแตกต่างกัน เหมือน ๆ กับว่า ถ้าทำสำรวจถามคนรอบข้าง เนติวิทย์ ว่า เนติวิทย์เป็นคนดีคนเก่งมั้ย น่าจะได้ผลสำรวจออกมา 100% ว่าเนติวิทย์เป็นคนดี คนเก่ง สุดยอดแห่งคนคอการเมือง และถ้าซูเปอร์โพล ไปถามคนรอบข้างเนติวิทย์ให้ว่า เนติวิทย์เป็นคนดีคนเก่งมั้ย ผลโพลก็น่าจะออกมาเหมือนกัน
2) ถ้า ซูเปอร์โพล อ่านตำราเดียวกับ เนติวิทย์ ที่เรียนด้านรัฐศาสตร์ สอนเรื่องการทำโพลแบบเนติวิทย์โพล ผลสำรวจก็น่าจะออกมาเหมือนกัน
3) ถ้า เนติวิทย์โพล เคยผ่านการพิสูจน์ความถูกต้องแม่นยำมาก่อนแล้ว เหมือนซูเปอร์โพล และประกาศผลสำรวจล่วงหน้าก่อนที่ความจริงจะเกิดขึ้น ผลโพลของเราทั้งสองก็น่าจะใกล้เคียงกัน
แต่น่าเสียดายที่ ซูเปอร์โพล ไม่ได้ทำโพลด้วยมาตรฐานเดียวกับ เนติวิทย์โพล น่าเสียดายว่า เราคงจะอ่านตำรากันคนละเล่ม ประพฤติตนมาคนละอย่าง ถูกปลูกฝังอบรมมาคนละแนว ผลสำรวจของเราทั้งสองจึงแตกต่างกัน การวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนบนความไม่รู้อย่างที่เนติวิทย์ตั้งคำถามมา จึงเป็นเรื่องที่ซูเปอร์โพลจะขอแนะนำต่อไปนี้
1) กลับไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านก่อนวิจารณ์เรื่องการทำโพล ชื่อ An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis 3rd Edition แม้จะแต่งมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังใช้สอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเรื่องการทำโพลและการวิจัยเชิงสำรวจ หรือ ถ้าจะเอาเล่มใหม่ ๆ อย่าง หนังสือเล่มนี้ เพิ่งออกมาปีที่แล้ว คือ Understanding Public Opinion Polls จะได้รู้ว่า ข้าวสาลี
แตกต่างจาก แกลบ อย่างไร และจะได้รู้ว่า ส้ม กับ แอปเปิ้ล ต่างกันอย่างไร นั่นคือ การสุ่มตัวอย่างแบบความน่าจะเป็นจากประชากรทั้งประเทศ กับการสุ่มตัวอย่างกับพี่น้อง คนรอบตัว หรือคนเฉพาะกลุ่ม ผลสำรวจจะออกมาแตกต่างหรือไม่แตกต่างกันอย่างไร
2) ลองอ่านทบทวนสิ่งที่ตนเองแสดงออกมา เปรียบเทียบกับหลักวิชาการด้านการทำโพล เพราะเห็นว่า เนติวิทย์ กำลังเรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ ที่วันหนึ่งอาจจะได้เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ หรือตอนนี้อาจจะได้เป็นแล้วเพราะเป็นคนเก่ง จะได้เข้าถึงและเข้าใจเสียงคนประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เสียงของคนเฉพาะกลุ่มอย่างที่ยกตัวอย่างมาในการไปถามคนที่จะถูกเกณฑ์ทหาร
ดังนั้นต่างคนต่างมีหลักวิชา ครูบาอาจารย์ มากันคนละแนว อย่าล้ำเส้นกันเลย เนติวิทย์ คนเก่ง....
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งที่ดีถ้าแตกต่างหลากหลายแล้วนำไปสู่ความดีส่วนรวม ไม่ใช่ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงบานปลาย อาจจะส่งผลให้เราทั้งสองคือ ซูเปอร์โพล และ เนติวิทย์โพล ตกเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของคนอื่นไป