'กอ.รมน.ภาค 4 สน.' โต้ปธ.กลุ่มบุหงารายา กล่าวหารัฐแทรกแซง-คุกคามระบบการศึกษา
"กอ.รมน.ภาค 4 สน." โต้ปธ.กลุ่มบุหงารายา กล่าวหารัฐแทรกแซง คุกคามระบบการศึกษา การใช้ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู และความไม่ปลอดภัยจากการถูกโจมตีในสถานศึกษาบนเวทียูเอ็น
จากกรณี นายฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายูใน 3 จชต. ได้เข้าร่วมประชุมเวทีสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องชนกลุ่มน้อย ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 25 - 27 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา โดยได้มีการกล่าวอ้างว่า รัฐมีนโยบายแทรกแซง คุกคามระบบการศึกษา การใช้ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยมุสลิม เชื้อสายมลายู
รวมทั้งการระบุว่าศูนย์ตาดีกาใน จชต. ได้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นสถานที่ บ่มเพาะและสอนเรื่องการใช้ความรุนแรง นั่นเป็นเหตุให้ครูตาดีกาหลายคนถูกจับและทหารก็ถูกส่งไปยังโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตี นอกจากนี้ภายหลังนายฮาซันฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทย ได้มีองค์กรเครือข่ายและนักเคลื่อนไหวทั้งในและนอกพื้นที่ ได้โพสต์และแชร์ข้อความในเฟสบุ๊คและสื่อออนไลน์อื่นๆ กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐเข้าข่มขู่และคุกคามเอาชีวิตนายฮาซัน และได้มีการรณรงค์ผ่านข้อความ “Save Activists Patani” อย่างแพร่หลาย
เวลา 13.30 น. วันนี้ (4 ธ.ค.62) ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยว่า การกล่าวอ้างของนายฮาซัน ในครั้งนี้ คลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก
จึงขอชี้แจงให้ทราบว่า ประเทศไทยถือว่าได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศในการเป็นสังคมพหุนิยม ที่เคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และเผ่าพันธุ์ แม้แต่ผู้แทนขององค์การ ความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่ จชต. หลายครั้ง ก็ได้แสดงการยอมรับและชื่นชมมาโดยตลอด อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลก็ไม่เคยกีดกัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและส่งเสริมในด้านการศึกษา ศาสนา ภาษา ศิลปะ พหุวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอิสลามศึกษาใน จชต. เพราะเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างจากบริบทของภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามายูถิ่นในการสื่อสาร จึงมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ด้านศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับ คำสอนในศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับเป็นหลัก จึงต้องมีโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่กับการสอนภาษามลายู ภาษายาวี และภาษาอาหรับ รัฐบาลได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาอิสลามศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนตามหลักศาสนา ตามวิถีอิสลามศึกษาและได้สนับสนุนส่งเสริมการสอนอิสลามศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาโดยตลอดทุกรูปแบบภายใต้การขับเคลื่อนของ ศูนย์ประสานงานและบริการการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มุ่งขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนเงินอุดหนุน (ค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน) และด้านกายภาพ ความหลากหลายของโรงเรียนสอนศาสนาในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ประกอบด้วย” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ยังกล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ซึ่งเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลามพื้นฐานกับเด็กและเยาวชนมุสลิม ให้มีความรู้ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนดำรงชีวิตในโลกนี้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมี 2,116 ศูนย์ นักเรียน 159,305 คน และครู 14,732 คน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนครูผู้สอนและค่าบริหารจัดการมัสยิด เป็นเงิน 14,000 - 20,000 บาท/เดือน/ศูนย์
นอกจากนี้ ได้พัฒนาจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิดระดับอิสลามศึกษาตอนต้น และพัฒนาผู้สอนได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้รับการยอมรับในการถ่ายโอนวุฒิการศึกษาได้ ส่วนสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนานอกระบบ มาตรา 15 (2) พัฒนาสถาบันให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของปอเนาะและความต้องการของโต๊ะครู พัฒนาทางด้านกายภาพ พัฒนาผู้เรียน ให้มีทักษะวิชาชีพและความรู้สายสามัญอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการสอนอัลกุรอานที่หลากหลาย เช่น วิธีกีรออาตี อิกเราะหฮุ หรือวิธีอื่นๆ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในระบบ มาตรา 15 (1) พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอิสลามศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาให้เป็นเอกภาพมาก และไม่ซ้ำซ้อน
“จากพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของนายฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายาและองค์กรเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จชต. ตลอดเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการเคลื่อนไหวล่าสุดในเวทีสหประชาชาติภายใต้ชุดความคิดส่วนตัว และฐานข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงภายใต้นโยบายแห่งรัฐ ต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการจงใจให้ร้ายต่อประเทศไทยว่ารัฐบาลได้คุกคามคนมลายูมุสลิม ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความไม่ปลอดภัยจากการถูกโจมตีในสถานศึกษา ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีเหตุการณ์โจมตีสถานศึกษาและทำร้ายบุคคลากรทางการศึกษาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้เพราะการสูญเสียดังกล่าวล้วนเกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องคุ้มครองความปลอดภัยและบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มก่อเหตุซึ่งพบว่ามีครูสอนศาสนาบางคนเข้าร่วมก่อเหตุและให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ดังหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่าย และนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐผ่านเฟสบุ๊ค และสื่อออนไลน์ด้วยการกล่าวหาว่านายฮาซันฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามเอาชีวิต จนได้มีการรณรงค์ให้ช่วยกัน ปกป้องนักเคลื่อนไหวในปัตตานี กันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศชาติและสร้างความเสียหายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ถือเป็นการโกหก หลอกลวงและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมและขยายความขัดแย้งไปสู่วงกว้าง จึงขอให้ หยุดให้ร้ายประเทศชาติและใส่ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าว