‘แบงก์ชาติ’เร่งลดหนี้กองทุนฟื้นฟู
“ธปท.” คาดภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูลดลงเร็วกว่าเดิม หลังบสก.หรือ BAM ขายหุ้นไอพีโอ ช่วยลดภาระหนี้ได้ 3.2 หมื่นล้าน เหลือ 7แสนล้านบาท ยันกองทุนฟื้นฟูไม่ลดสัดส่วนถือหุ้น คงนโยบายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หวังเงินปันผลมาช่วยลดภาระหนี้กองทุน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) หรือ บสก.ว่า การขายหุ้นดังกล่าวเป็นสิ่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ)ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผานมา เพื่อให้สามารถนำ BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้ เพื่อลดภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยการขายหุ้นไอพีโอของ BAM ครั้งนี้ จะสามารถลดหนี้ได้ 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯมีภาระหนี้คงเหลืออยู่ประมาณ 7.7 แสนล้านบาท จากเดิมมีอยู่กว่า 1.14 ล้านล้านบาท
“ขอขอบคุณประชาชน และนักลงทุนที่สนใจเข้ามาซื้อหุ้นของ BAM โดยเราพยายามจัดสรรหุ้นให้กับรายย่อยให้มากที่สุด ซึ่งการขายหุ้นครั้งนี้ จะทำให้ BAM มีความเข้มแข็งในด้านฐานะการเงิน สามารถที่จะขยายธุรกิจต่อไปได้มาก เพราะธุรกิจการจัดการสินทรัพย์ เป็นธุรกิจสำคัญของระบบการเงิน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินประเทศ และการที่เขาไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เขาก็จะสามารถมีความตคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีมืออาชีพเข้ามาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพันธกิจที่จะมุ่งลดภาระหนี้ของกองทุน”
เขากล่าวต่อว่า กองทุนฟื้นฟูฯยังมีนโยบายที่จะถือหุ้น ฺBAM ต่อ โดยหลังการขายหุ้นไอพีโอ สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเหลือ 46-49% ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการใช้ Green shoe มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามกฎไซเรนพีเรียด เราจะถือไปอีกปีครึ่งไม่มีการลดหรือเพิ่ม อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านช่วงไซเรนพีเรียดไปแล้ว กองทุนฟื้นฟูฯ จะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของBAM และเราคาดหวังว่าจะได้ปันผลต่อเนื่อง เพื่อลดภาระความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯในอนาคต
“ หลังจากการขายหุ้นครั้งนี้แล้ว ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯจะลดเร็วกว่าเดิม เพราะเงินต้นเหลือน้อย และที่ผ่านมาภาระดอกเบี้ยก็มีจำนวนค่อนข้างมาก ส่วนแผนระยะต่อไปของBAMนั้น ก็พยายามทำธุรกิจเดิม และ สร้างผลตอบแทนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวิรไท กล่าว
อนึ่ง ในปีงบประมาณ 2561 กองทุนฟื้นฟู มีเงินสดรับรวมทั้งสิ้น 14,537 ล้านบาท คิดเป็น 111 %ของประมาณการ (13,080 ล้านบาท) ซึ่งได้รับในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 เป็นเงินปันผลจาก BAM และธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(KTB) รวมทั้งเงินรับชำระหนี้จาก บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และเงินรับจากกองทรัพย์สิน
ในด้านการชำระหนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กองทุนฯ ได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการ ของหนี้ FIDF1 และ FIDF3 รวมทั้งสิ้น 78,456 ล้านบาท เป็นการชำระคืนต้นเงินกู้ 46,454 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 32,002 ล้านบาท โดยการชำระต้นเงินกู้มาจากเงินกองทุนฯ 14,200 ล้านบาท และ แหล่งเงินอื่น 32,254 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 ภาระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 มียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 845,037 ล้านบาท
สรุปผลการดำเนินงานและฐานะการเงินในรอบปีงบประมาณ 2561 กองทุนฯ มีกำไรสุทธิ 18,739 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 18,951 ล้านบาท ได้แก่ การรับรู้ส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และรายได้ดอกเบี้ยและส่วนลดรับ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 212 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและการดำนินงาน
ณ วันที่ 30 ก.ย.2561 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 234,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11,333 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.09% หนี้สินรวม 24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น57.69% เงินกองทุน 234,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11,324 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น5.08%
ในด้านแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ BAM นั้น BAM จะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) จำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น54.4 %ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ โดยเคาะราคาขายไอพีโอหุ้นละ 17.50 บาท จากช่วงราคาเสนอขายที่ 15.50-17.50 บาท