‘กบข.’เบนเข็มลงทุนนอก หนีหุ้นผันผวน-หวังรีเทิร์นยาว
ต้องยอมรับว่าภายใต้ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก การบริหารเงินลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนระดับสูง “ไม่ใช่เรื่องง่าย” แต่ที่ยากยิ่งกว่า คือการบริหารเงินลงทุนเพื่อให้มาซึ่งผลตอบแทนในระดับ “ที่น่าพอใจ” และ “สม่ำเสมอ” ในระยะยาว
ปีนี้จึงได้เห็นบรรดาผู้จัดการกองทุน ปรับพอร์ตการลงทุนต่างๆ เพื่อหาโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” หรือ “กบข” ซึ่งบริหารเงินลงทุนส่วนของสมาชิก 4 แสนล้านบาท จากสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีเพดานการลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ 30% เตรียมขยับเพิ่มเป็น 40%
“วิทัย รัตนากร” เลขาธิการ กบข. บอกว่า ปัจจุบัน กบข. มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่ 28% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งใกล้เพดานการลงทุนต่างประเทศตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ที่ 30 % ของสินทรัพย์รวมแล้ว จึงต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศเป็น 40% เพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนภายในประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 72%
เป็นการ “ลดความเสี่ยง” และหาโอกาสลงทุนเพื่อรับ “ผลตอบแทนที่ดีขึ้น” จากการลงทุนในตลาดต่างประเทศ สอดคล้องกับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา “UBS Asset Management” ที่เสนอให้ กบข. เพิ่มการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าจะเสนอกระทรวงการคลังภายในกลางเดือนธ.ค.2562นี้
" การปรับทิศทางการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอของสมาชิก ซึ่ง กบข. ตั้งเป้าความเพียงพอให้สมาชิกมีเงินออมเมื่อเกษียณเท่ากับ 80% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย และไม่น้อยกว่า Percentile ที่ 70% ของรายได้พึงมีเมื่อเกษียณ (Minimum Lum Sum) จึงเน้นความสม่ำเสมอของผลตอบแทน"
สอดคล้องกับผลการสำรวจความต้องการของสมาชิกที่ กบข. ร่วมจัดทำกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการให้ กบข. มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ อาจไม่ต้องเป็นผลตอบแทนที่สูงมากนัก แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ขาดทุน
สำหรับการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นมาอีก 10% นั้นคิดเป็นเงินราว 4 หมื่นล้านบาท จะกระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ( Alternative Asset) เช่นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองทุนไพรเวท อิควิตี้ รวม 4% ,กองทุนประเภท Absolute Return Fund อีก 1.5% , การลงทุนในตลาดหุ้นโลก อีก 1.5%โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและการลงทุนในตราสารหนี้โลกสัดส่วนอีก 3% นอกจากนี้ กบข. ยังจะเพิ่มการใช้เครื่องป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน หรือ“Derivatives”เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนอีกทางหนึ่งด้วย
"กาารปรับทิศทางการลงทุนโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อรองรับกระแสความผันผวนตลาดทุน และเศรษฐกิจโลกที่โตช้าลง บวกกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพราะต่างประเทศมีสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ มีหุ้นที่น่าลงทุนเป็นพันตัว โดยการลงทุนของกบข.จะเน้นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ แทนผลตอบแทนที่ขึ้นลงตามกระแสของตลาด" เลขาธิการกบข.กล่าว
แนวทางการบริหารดังกล่าว จะช่วยให้กบข.บริหารผลตอบแทนภายใต้ความผันผวนได้ดี โดยในกรณีที่ผลตอบแทนของตลาดกระโดดขึ้นไปสูงมาก กบข.ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงแต่อาจไม่เท่ากับตลาด แต่ในกรณีที่ตลาดมีผลตอบแทนติดลบ กบข.ก็จะไม่ติดลบมากเท่ากับตลาดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังทำให้ผลตอบแทนที่ได้มีความสม่ำเสมอ โดยตั้งเป้าผลตอบแทนที่ระดับประมาณ 4% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ( 2562-2564)
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กบข.มีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนรวม 9.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของสมาชิก 4 แสนล้านบาท และเงินสำรองของรัฐบาลอีก 5.4 แสนล้านบาท ผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน พ.ย.นี้เท่ากับ 5.0 % โดยสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนในรูปของเงินบาทสูงสุด ได้แก่ หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ให้ผลตอบแทน 16.8 % ,หุ้นประเทศเกิดใหม่ 12.4 % ,Absolute Return Fund 11.7% และ
Global Private Equity 10.2% ตามลำดับ ในขณะที่หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเพียง 3.8% เท่านั้น
เลขาธิการกบข. บอกอีกว่า เชื่อว่าการขยายการลงทุนไปต่างประเทศของกบข. ทำให้มีเงินลงทุนออกไปนอกประเทศ ซ่ึ่งจะมีส่วนช่วยเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าได้ ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน เนื่องจากตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว
โดยโอกาสที่จะเกิด Recession น้อยลง สังเกตจาก Production Manufacturing Index เริ่มผงกหัวขึ้น บวกกับการที่ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มปั๊มเงินเข้าสู่ระบบ รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ย และตลาดสินทรัพย์เสี่ยงสามารถลงทุนได้ แม้จะมีความผันผวน และยังมีปัญหา Geo politics Risk ก็ตาม