‘บีทีเอส-บีอีเอ็ม’ เปิดสถานีใหม่ หนุนผู้โดยสารพุ่ง
ถือเป็นข่าวดีสำหรับคน กทม. ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัด ไม่อยากผจญกับรถติดเป็นเวลานานๆ หลังเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา
รถไฟฟ้า BTS และ รถไฟใต้ดิน MRT พร้อมใจกันถือฤกษ์ดี เปิดให้บริการเดินรถ 4 สถานีใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นตัวเลือกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน
โดยบีทีเอสได้เปิดทดลองให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มอีก 4 สถานี จากสถานีห้าแยกลาดพร้าวไปสถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี และได้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าร่วมกับผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร, กระทรวงคมนาคม ฯลฯ ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการในเวลา 13.00 น. โดยไม่เสียค่าใช่จ่ายไปจนถึงวันที่ 2 ม.ค. 2563
แน่นอนว่าหลังเปิดให้บริการใน 4 สถานีใหม่นี้ น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนเส้นหลัก ทั้งพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ซึ่งต่างถูกขนานนามว่าเป็นถนนที่รถติดมากที่สุดใน กทม. ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการคาดว่าจะคึกคักไม่น้อย เพราะตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยสถานที่ราชการ มีสถานบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โรงเรียนหอวัง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว, ยูเนี่ยน มอลล์ และยังมีอาคารสำนักงานอีกหลายตึก ขณะที่คอนโดมิเนียมขึ้นราวกับดอกเห็ด
ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการจากสถานีหมอชิตไปสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฉลี่ยวันละประมาณ 1 แสนเที่ยวคนต่อวัน และจะเพิ่มเป็นมากกว่า 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน ในปลายปี 2563 หลังเปิดเดินรถไปถึงสถานีคูคต
หนุนผลประกอบการตั้งแต่งวดไตรมาส 4 ปี 2562/2563 (ม.ค.-มี.ค. 2563) ปรับตัวดีขึ้น เพราะจะเริ่มเก็บค่าโดยสารตามปกติแล้ว และจะรับรู้ประโยชน์เต็มปีในงวดปี 2563/2564 (เม.ย. 2563-มี.ค. 2564) ส่วนราคาค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ คงต้องรอหารือสัมปทานเดินรถไฟฟ้ากับทาง กทม. ก่อน ซึ่งเบื้องต้นตามข่าวที่ออกมาได้จำกัดเพดานค่าโดยสารตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 65 บาท
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องราคา แต่จะเห็นว่าราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS วิ่งขึ้นมาทดสอบนิวไฮใหม่ 14 บาท สะท้อนผลประกอบการที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และจะค่อยๆ โดดเด่นขึ้นจากการทยอยเปิดเดินรถไฟฟ้าสถานีใหม่ ส่วนเรื่องการต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี เชื่อว่าสุดท้ายแล้วน่าจะตกลงกันได้ เพราะถ้าจะไปเปิดประมูล สรรหาผู้เดินรถรายใหม่ ขั้นตอนดูค่อนข้างยุ่งยาก และยังไม่รู้ว่าจะกระทบต่อการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเส้นทางหลักกับส่วนต่อขยายด้วยหรือไม่
ขยับมาดูอีกหนึ่งเส้นที่เปิดทดลองให้บริการไปพร้อมกัน ได้แก่ ส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับสัมปทานเดินรถ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดวิ่ง 4 สถานี จากเตาปูน ไปบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาสถานีบางอ้อ, บางพลัด และสิรินธร
ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงต้องมาเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีเตาปูน เพื่อเดินทางไปยังสถานีสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (สถานีบางโพ-สถานีสิรินธร) โดยไม่คิดค่าโดยสาร ซึ่งช่วงนี้จะเปิดให้นั่งฟรีทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ไปจนถึงวันที่ 29 มี.ค. 2563 จากนั้นจะเดินรถเต็มรูปแบบไปถึงสถานีท่าพระตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป
เท่ากับว่าภายในไตรมาส 1 ปี 2563 จะให้บริการเดินรถครบทุกสถานี และกลายเป็นอีก 1 เส้นทางหลัก ในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง กทม. และฝั่งธนบุรีเข้าไว้ด้วยกัน หนุนให้จำนวนผู้โดยสารทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากเดือนต.ค. ที่ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 3.75 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังเปิดเดินรถช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา และปรากฎว่าได้กระแสตอบรับที่ดีมาก ทุกวันนี้จะไปเยาวราชสามารถนั่งรถไฟใต้ดินไปลงสถานีวัดมังกรได้เลย
ขณะที่บริษัทหวังว่าในปี 2563 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นราว 20% จากปีนี้ที่คาดได้เห็นถึง 5 แสนเที่ยวคนต่อวัน และที่จะตามมาคือรายได้ค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามระยะการเดินทางที่ไกลขึ้น เป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นค่อยๆ วิ่งขึ้นมารับข่าว กำลังทดสอบแนวต้านที่ 11 บาท อีกครั้ง
ดูจากสตอรี่ของ BTS และ BEM ตอนนี้ใกล้เคียงกัน คือ ความคาดหวังจากการเปิดให้บริการเดินรถสถานีใหม่ ถือเป็นโมเมนตัมเชิงบวกต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ราคาหุ้นสะท้อนข่าวดีนี้ไปมากแล้ว ดังนั้น กรอบที่จะวิ่งขึ้นไปจะเริ่มจำกัดมากขึ้น