‘กสิกร’เข้มปล่อยกู้เอสเอ็มอี ห่วงหนี้เสียพุ่ง
"กสิกรไทย"รับสินเชื่อเอสเอ็มอีโตต่ำเป้า ขยายตัวเพียง 1% จากที่ตั้งไว้ 2-4% หลังธุรกิจเจอปัญหารุมเร้า ฉุดยอดขายดิ่ง ส่งผลให้เอ็นพีแอลไหลต่อเนื่อง คาดสิ้นปีแตะ6% ตั้งการ์ดระวังปล่อยกู้ทั้งรายเก่าและรายใหญ่ พร้อมปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มออนไลน์
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้มีโอกาสเติบโตเพียง 1% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2-4% เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอี เจอผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ค้าเงินบาทแข็งค่า ทำให้คำสั่งซื้อสินค้า และรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 0.4% มีสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้าง 6.64 แสนล้านบาท
จากยอดขายกลุ่มเอสเอ็มที่ลดลง ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของเอสเอ็มอีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าเอ็นพีแอลปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 6% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% โดยเฉพาะเอ็นพีแอลจากกลุ่มเกษตร และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพราะได้รับผลกระทบสองเด้งทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ดังนั้นในด้านของธนาคารก็ต้องระมัดระวัง ปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อลงทุน ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่สูงจนเกินไป
“เอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอี เทรนด์ยังไหลต่อ ทำให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้น เหมือนทุกแบงก์ที่ไม่ได้ปล่อยกู้เพิ่มมากนัก และไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเกินสภาพธุรกิจ ปัญหาของเอสเอ็มอีหลักๆก็มาจากยอดขาย การค้าขายยังไม่กลับมา จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า พืชผลทางการเกษตรมีปัญหา กำลังซื้อในประเทศหด ทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น”
เขากล่าวต่อว่า การระมัดระวังของธนาคาร ไม่ใช่แค่ลูกค้ารายเก่าเท่านั้น แต่ธนาคารยังระมัดระวังการให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีรายใหม่ด้วย โดยธนาคารต้องมีกระบวนการปล่อยกู้ที่รัดกุมเพิ่มขึ้น ธนาคารต้องพยายามรู้จักเอสเอ็มอีให้ลึก วิเคราะห์ไปถึงยอดขาย ดูแนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะการปล่อยสินเชื่อภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ต้องอยู่บนความระมัดระวัง โดยธนาคารเชื่อว่า หัวใจสำคัญ คือธนาคารต้องรู้จักตัวตนลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ธนาคารเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
ส่วนการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีปีหน้า ธนาคารคาดว่าน่าจะทรงตัวจากปีนี้ หรือเติบโตราว 1-2% เนื่องจากกำลังซื้อโดยรวมในประเทศยังชะตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจสำคัญ ในการผลักดันการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอี
ภายใต้การปล่อยสินเชื่อในภาวะที่มีความท้าทายมากขึ้น ธนาคารจึงต้องปรับกลยุทธ์ เช่น การปรับกลยุทธ์ไปเจาะกลุ่มออนไลน์มากขึ้น และใช้กระบวนการดิจิทัล เข้ามาวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นความเสี่ยงลูกค้าชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งการใช้ดิจิทัลในการปล่อยสินเชื่อ ยังช่วยลดต้นทุนค่า ลดใช้จ่ายในการปล่อยสินเชื่อให้ลดลงด้วย
รวมถึงการบุกตลาดผู้ค้าขายออนไลน์มากขึ้น เพราะกลุ่มนี้พบว่าดีมานด์ยังเติบโตได้ดี ยอดขายออนไลน์ยังเติบโตสูงเกินระดับ 10% อย่างต่อเนื่อง รวมถึงไปโฟกัสในกลุ่มที่จะได้อานิสงส์จากโครงการก่อสร้าง โครงการลงทุนของภาครัฐมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น