แนะปรับแบบอาคารเรียน รับมือปัญหาน้ำท่วม “โรงเรียนติดแม่น้ำมูล”
จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี จ.อุบลฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปราการด่านสุดท้ายในการรับน้ำภาคอีสานตอนบนและล่าง ทำให้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ นำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร ถนนหนทาง รวมถึงสถานที่สำคัญอย่างโรงเรียน
แม้ว่าเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคอีสานจะคลี่คลายลงแล้ว การใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังน้ำท่วมยังคงต้องการการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยทั้งเวลาและงบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กหลายแห่ง ที่เสียหายอย่างหนัก และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซม
ทั้งนี้จากข้อมูล เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ได้รับผลกระทบ 698 แห่ง โรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ได้รับผลกระทบ 90 แห่ง รวมทั้งหมด 788 แห่ง ประมาณค่าความเสียหาย 16,307,799 บาท ที่ผ่านมามีการปิดเรียนทั้งหมด 140 แห่ง
- ฟื้นใจคนไทยหลังน้ำลด
“Recovering Ubon” ช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ที่ริเริ่มโดยบมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์และบริษัทในเครือ ร่วมกับ บจก. เอ็กคู่ เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) และพันธมิตรช่วยกันบริจาคทั้งเงินและสิ่งของ โดยมีสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ช่วยลำเลียงสิ่งของบริจาคจากกรุงเทพฯ ไปยังอุบลราชธานี องค์การเภสัช ร่วมบริจาคชุดยาตำราหลวงจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมี ออฟฟิศเมทและกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ช่วยบริจาคเครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ ส่งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สฤษดิ์ วิฑูรย์ พร้อมเงินสดจำนวนหนึ่ง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 10 เครื่องเพื่อใช้ในการทำความสะอาดพื้นที่หลังน้ำลด ชุดยาตำราหลวงจำนวน 300 ชุด กล่องเอนกประสงค์สำหรับเก็บสิ่งของที่ได้รับบริจาค และข้าวสารจำนวน 3 ตัน เพื่อเป็นข้าวสารกองกลางประจำหมู่บ้านเพื่อจัดสรรให้กับครัวเรือนต่างๆ ที่ที่นาได้รับความเสียหายและขาดแคลนข้าวสารในการบริโภค ส่งต่อชุดยาตำราหลวงจำนวน 100 ชุด ให้กับมูลนิธิประชาสังคม เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในการลงพื้นที่
- ระดมกำลัง ฟื้นฟูสถานศึกษา
โดยได้ประสานงานกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 3 จำนวน 14 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก4 แห่ง ในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโขงเจียม อำเภอตาลสุม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอสิรินธร ส่งชุดเครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ศิลปะ ยาห้องพยาบาลสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม อาทิ พริ้นเตอร์ โต๊ะญี่ปุ่น ชั้นวางรองเท้า ชั้นเก็บของ ช้อนส้อมเด็ก ชุดซิงค์ล้างจาน หนังสือแบบเรียน หนังสือนิทาน สมุดระบายสี ที่นอนเด็กเล็ก ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ซึ่ง โรงเรียนบ้านดอนตะลี ต.ตาลสุม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี เปิดทำการเรียนการสอนในชั้นอนุบาล 1 - ป. 6 ปัจจุบัน มีครูจำนวน 8 คน นักเรียนจำนวน 177 คน ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล จึงประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง
รุ่งศักดิ์ มิ่งคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนตะลี กล่าวว่า หากน้ำท่วมเพราะฝนตกไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่หากน้ำท่วมใหญ่จากน้ำมูลรอการระบายจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนประสบอุทกภัยครั้งใหญ่จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 2521 ปี 2545 และ ล่าสุด ปี 2562 ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งอาคารเรียน โต๊ะ ประตูที่เป็นไม้อัด เครื่องกรองน้ำที่แต่เดิมตั้งไว้บริเวณพื้นราบ ไม่ได้ยกสูง ถูกน้ำท่วมพังเสียหายใช้การไม่ได้
แม้ปัจจุบัน โรงเรียนได้ทำการฟื้นฟูความเสียหายได้กว่า 95% มีอาคารที่ใช้ได้ดี และปลอดภัยจากน้ำท่วมครั้งต่อไปเพียง 1 อาคาร ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ยกสูง นอกนั้น เป็นอาคารห้องสมุด อาคารอเนกประสงค์ และอาคารซึ่งเป็นห้องเรียนอนุบาล ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมครั้งต่อไป เนื่องจากสร้างมานาน แต่ไม่มีการยกขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งอาคารที่เป็นไม้ ซึ่งได้ทำเรื่องรื้อถอนออกไปเรียบร้อยแล้ว
“จากเหตุการณ์น้ำท่วม โรงเรียนได้รับความเสียหายเยอะมาก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ที่เข้ามาเร่งฟื้นฟูทันทีหลังน้ำลด อาทิ กองบิน 21 ซึ่งมอบถุงยังชีพ เครื่องกรองน้ำ และโต๊ะเก้าอี้จำนวน 120 ชุด ให้แก่โรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านดอนตะลี, โรงเรียนบ้านดอนพันชาด และ โรงเรียนบ้านกุดกั่ว รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ห้างสรรพสินค้ายงสงวน และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่บริจาคเงินเพื่อใช้ในการฟื้นฟู และเราได้นำเงินตรงส่วนนี้มาซ่อมแซมอาคาร ซื้อโต๊ะใหม่ ภาพรวมสำเร็จไปกว่า 95% ”
ขณะเดียวกัน ในส่วนของอุปกรณ์การเรียน ได้รับการจัดหามาทดแทนแล้วกว่า 70-80% ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะครูในโรงเรียนสามารถดูแลในส่วนนี้ได้ ขณะที่โต๊ะเก้าอี้ โรงเรียนได้นำเงินบริจาค ไปจัดซื้อโต๊ะสแตนเลส จากจังหวัดขอนแก่น จำนวน 40 ชุด เพื่อให้ทนทานมากยิ่งขึ้่น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากชาวบ้านในชุมชนช่วยขนย้าย แม้โต๊ะที่สั่งจะเดินทางมาถึงในเวลาค่ำก็ตาม
ทั้งนี้ สิ่งที่โรงเรียนยังขาดเหลืออยู่ในขณะนี้ คือ ชั้นหนังสือในห้องสมุด ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากเป็นไม้ และเครื่องกรองน้ำ ซึ่งความจริงแล้ว ได้รับการบริจาคมาแทนเครื่องเก่าจำนวน 1 เครื่อง แต่ในเบื้องต้นได้ยกให้กับโรงเรียนอื่นที่ขาดแคลน เพราะคิดว่าเครื่องเก่าสามารถซ่อมได้ แต่เมื่อลองซ่อมแล้วกลับยังใช้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ปัจจุบัน จึงต้องอาศัยน้ำดื่มจากที่ได้รับบริจาคมา
นอกจากการฟื้นฟูอาคารเรียน และจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนหลังน้ำท่วมแล้ว ยังต้องการรับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ ทดแทนเครื่องเก่าที่อายุมากจนใช้การไม่ได้ ปัจจุบัน มีผู้บริจาคแล้วรวมทั้งหมด 18 เครื่ีอง ยังขาดอีก 2 เครื่อง เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้เรียนอย่างทั่วถึง
ครูต้อย - กิติยา ทองคง หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ที่ศูนย์เด็กเล็กฯ มีครูรวมแม่บ้าน 7 คน และเด็กปฐมวัย 2 – 4 ขวบ 109 คน เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรกที่นำ้ท่วม สูงกว่า 2 เมตร และมีน้ำขังนานกว่า 3 สัปดาห์ แม้จะมีการนำสิ่งของ และ เอกสารสำคัญ ขึ้นที่สูง โดยยืมโต๊ะเก้าอี้จากทางวัด แต่ก็ไม่เพียงพอเพราะน้ำสูงกว่าที่คิด
"โรงเรียนได้รับความเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ใช้เป็นโรงอาหาร อาคารใหญ่ อาคาร 2 ซึ่งเป็นห้องของเด็ก 2 ขวบ ห้องน้ำ รวมถึงห้องเก็บของ สนามเด็กเล่น ตู้ และโต๊ะครู นักเรียน ซึ่งเป็นกระดาษอัด เมื่อโดนน้ำขังทำให้เปื่อยยุ่ย นอกจากนี้ ยังพบรอยร้าวในบางอาคารอีกด้วย"
“พอน้ำลด เราก็เข้าไปสำรวจก่อน สภาพเหมือนเมืองร้างจนพูดอะไรไม่ออก เครื่องเล่นที่เคยยึดติดกับพื้นลอยออกหมด ตึกเป็นคราบตะไคร่น้ำ โต๊ะนักเรียนไม่มีเลย เหลือโต๊ะไม้ที่ใช้ได้เพียง 4-5 ตัว ตอนนี้ให้เด็กนั่งกินข้าวกับพื้นไปก่อน อันดับแรกเราได้ขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานไฟป่า ของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยไฟป่าจึงขอความร่วมมือไปยัง กรมอุทยานฯ ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยกว่า 100 คน เพื่อทำความสะอาดอาคารเรียน ติดตั้งเครื่องเล่น และกลบทรายสนามเด็กเล่นใหม่ รวมถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วยทาสีอาคารเรียนให้ใหม่ เพราะในศูนย์ฯ มีแค่ผู้หญิง 6-7 คน กับเจ้าหน้าที่เทศบาลซึ่งไม่เพียงพอ เพราะต้องดูแลชาวบ้านคนอื่นที่เดือดร้อนด้วย”
ครูต้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งต่อไป คงต้องทำการขนย้ายให้รวดเร็วมากขึ้น เพราะด้วยความที่เป็นศูนย์เด็กเล็ก ไม่สามารถสร้างให้เป็น 2 ชั้นได้ เพราะมีแบบแปลนที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงอาจต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและอาศัยหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยหากเกิดน้ำท่วมครั้งต่อไป
ปัจจุบัน มีผู้ใจบุญบริจาคข้าวของเครื่องใช้ และอุปกรณ์การเรียน เช่น สมุด ดินสอ เครื่องเล่น มาให้ส่วนหนึ่ง มีผู้ใหญ่ใจดีบริจาคที่นอนให้กับเด็กครบทุกคน แต่ก็ยังขาดโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เก็บของ ขณะนี้ มีเงินบริจาคสำหรับซ่อมแซมอาคาร และจัดหาโต๊ะเก้าอี้ใหม่ แต่อาจต้องรอยื่นเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน คาดว่าจะทำเรื่องแล้วเสร็จไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังเปิดรับเสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก เนื่องจากกำลังเข้าสู่หน้าหนาวและเด็กบางส่วนยังขาดแคลนอีกด้วย
- แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
ผอ. โรงเรียนบ้านดอนตะลี กล่าวเพิ่มเติมว่าในตอนนี้ คิดว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การซ่อมแซมอย่างเดียว แต่ต้องแก้อย่างยั่งยืน เพราะโรงเรียนอยู่ติดริมแม่น้ำมูล ฟื้นฟูเสร็จ ก็มีโอกาสท่วมใหม่ ดังนั้น ปัญหาตอนนี้คือ โรงเรียนต้องการอาคารที่ยกสูง เพื่อเวลาน้ำท่วมจะได้ไหลผ่านได้ และหากได้เครื่องกรองน้ำใหม่ คงต้องติดตั้งโดยยกสูงจากพื้นดินราว 50 เซ็นติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำ