เด็กข้ามชาติในไทยกว่า 2แสนไร้ประกันสุขภาพ
ผลวิจัยสุขภาวะเด็กข้ามชาติในไทยกว่า 2 แสนคนไม่ถูกขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม เผชิญหลากปัญหา ไร้ประกันสุขภาพ ตกอยู่ในตลาดแรงงานทางที่ไม่เหมาะกับวัย เสนอทุกฝ่ายร่วมหาทางแก้ไข
น.ส.เปรมใจ วังศิริไพศาล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง สถานการณ์และความเปราะบางด้านสุขภาวะเด็กข้ามชาติในประเทศไทย ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยนำผู้ติดตามที่เป็นเด็กเข้ามาด้วย รวมทั้งมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เกิดในไทย
เมื่อประเทศไทยมีนโยบายชัดเจนให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนสถานะให้ถูกกฎหมายและให้ผ่านระบบการนำเข้าทางการ(MOU) ซึ่งไม่ให้นำผู้ติดตามเข้ามาด้วย แต่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนหากแรงงานมีครอบครัวและมีบุตรภายหลังจากเข้ามาทำงานแล้ว เด็กในครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่มีการขึ้นทะเบียนในฐานะผู้ติดตามมีแนวโน้มต่ำกว่าจำนวนที่แท้จริง โดยเด็กข้ามชาติในประเทศไทยที่มีการประเมินว่ามีไม่น้อยกว่า 2.5 แสนคน มีทั้งที่ได้รับการป้องกันโรคที่จำเป็น ได้รับไม่ครบตามจำนวน มีทั้งมีประประกันสุขภาพที่มีเพียง 4.7 หมื่นคน และไม่มีประกันสุขภาพ มีเด็กที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน สภาพแวดล้อมที่เร่ร่อน เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ
รายงานนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ด้านสุขภาวะของเด็กข้ามชาติเหล่านี้และความเปราะบางด้านสุขภาพที่เด็กข้ามชาติยังต้องเผชิญอยู่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของเด็กข้ามชาติที่เหมาะสมต่อไป
น.ส.เปรมใจ ระบุว่า ในการศึกษานี้มีวิธีการศึกษาข้อมูลจากการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้น และจากรายงานการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยโดยตรงและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน ซึ่งเชื่อมโยงถึงเด็กข้ามชาติที่ติดตามเข้ามา รวมทั้งเด็กข้ามชาติที่เข้ามาด้วยตนเองในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นใน
ข้อค้นพบสรุปในภาพรวม ประเทศไทยให้การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในหลายเรื่องคือการจดทะเบียน และให้ใบรับรองการเกิดการ ให้วัคซีนป้องกันโรคในสถานพยาบาล การรับเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาของรัฐ โดยได้รับการอุดหนุนเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ พบว่ามีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หรือได้ไม่ครบตามเกณฑ์ การสำรวจพบว่าเด็กข้ามชาติมีน้ำหนักและขนาดรูปร่างที่น้อยกว่าเด็กไทยในระดับอายุเดียวกัน
และยังมีส่วนหนึ่งที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การที่เด็กมีโอกาสและเข้าถึงการศึกษาทั้งในสถานศึกษาของไทยและศูนย์การเรียนทำให้เด็กข้ามชาติมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่แตกต่างกับเด็กไทย ยกเว้นการไปพบทันตแพทย์ที่น้อยครั้งกว่าเด็กไทย
ส่วนการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ มีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพและไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งในระดับปฏิบัติยังมีความเข้าใจว่าจำกัดให้ซื้อได้เฉพาะครอบครัวแรงงาน จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับเด็กที่อาจจะป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ และระบบไม่ครอบคลุมเด็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงานหรืออยู่นอกระบบ และค่าประกันสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปที่สูงเท่าผู้ใหญ่ ทำให้ไม่ตรงใจหรือเกินกำลังซื้อของครอบครัว ถึงแม้จะมีการสำรวจพบว่าการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลเป็นความต้องการระดับต้นๆของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
ขณะเดียวกันระบบประกันสุขภาพที่จำกัดเฉพาะเด็กข้ามชาติ หรือแรงงานที่จดทะเบียนและค่าประกันที่แรงงานเห็นว่าสูงเกินไป ทำให้เด็กจำนวนมากตกหล่นจากระบบประกันสุขภาพ การป้องกันโรคที่จำเป็น ซึ่งนอกจากส่งผลต่อสุขภาพของเด็กโดยตรงแล้ว ยังมีผลไปถึงภาระการรักษาพยาบาลของพ่อแม่เมื่อเด็กเจ็บป่วย อีกทั้ง มีเด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงานทางที่ไม่เหมาะกับวัย หรือประเภทงานที่ไม่เหมาะกับเด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงจากสภาพการทำงาน นอกจากนั้น ยังมีเด็กเร่ร่อน ขอทานหรือทำงานข้างถนนที่เผชิญกับความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิ์และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข
“สถานการณ์ด้านสุขภาวะของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย จึงยังเผชิญปัญหาและความเปราะบางในหลายด้าน ทั้งในระดับนโยบายที่ยังมีช่องว่าง ยังขาดมาตรการที่ครอบคลุมเด็กข้ามชาติทุกกลุ่ม และระดับปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงเด็กข้ามชาติอีกจำนวนไม่น้อย รวมทั้งการสร้างความตระหนัก การมีส่วนร่วมของครอบครัวเด็กข้ามชาติยังไม่เพียงพอ สุขภาวะเด็กข้ามชาติจึงมีความเปราะบางและเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องหาแนวทางและมาตรการแก้ไขจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” น.ส.เปรมใจระบุ