กรมการแพทย์ เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยลมชัก เครื่องแรกในประเทศไทย
กรมการแพทย์ เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยลมชัก เครื่องแรกในประเทศไทย
ที่สถาบันประสาทวิทยา กทม. นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองผู้ป่วยโรคลมชักเครื่องแรกในประเทศไทย ที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ประชาชนใช้บริการได้ทุกสิทธิ์การรักษา
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ปลอดภัย ลดการรอคอย โดยนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง ที่มีความแม่นยำสูง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดระยะเวลาผ่าตัดจากเดิม 8-10 ชั่วโมง มาใช้ช่วยผ่าตัดสมองในโรคลมชักเครื่องแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคทางสมองได้อีกหลายโรค หลายหัตถการ เช่น การผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดของโรคลมชัก การผ่าตัดวางเครื่องมือ DBS ในโรคพาร์กินสัน ผ่าตัดเนื้องอกในสมองทั่วไปและเนื้องอกที่บริเวณต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ในส่วนลึก การผ่าตัดชิ้นเนื้อในสมองส่วนลึก การผ่าตัดส่องกล้องในสมอง (Endoscope) หรือการผ่าตัดอื่น ๆ ที่ต้องการความแม่นยำสูง ขณะนี้ได้ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายากและมีความซับซ้อนไปแล้ว 4 ราย
โดยปกติในผู้ป่วยโรคลมชักที่มีจุดกำเนิดของโรคจากสมองเฉพาะที่และดื้อต่อการรักษาด้วยยากันชัก จะรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปตรวจวัดหาตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดที่เล็กที่สุดและตรวจวัดการทำหน้าที่ของสมองเพื่อวางแผนผ่าตัด เมื่อนำหุ่นยนต์มาช่วยวางแผนผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดชักและโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีความแม่นยำทั้งตำแหน่งและความลึกของเป้าหมาย ผ่านระบบนำวิถี Navigation ของตัวหุ่นยนต์ จะช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดได้ถึง 4-8 ชั่วโมงต่อหัตถการ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องหลับภายใต้ยาสลบ ลดความบอบช้ำจากการผ่าตัด ศัลยแพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยได้มากขึ้นโดยไม่เหนื่อยล้าเท่าเดิม รวมทั้งใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยการจี้สมอง (Thermocoagulation)ใส่เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เพื่อรักษาโรคลมชัก
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่าห้าแสนราย เกือบหนึ่งแสนห้าหมื่นรายมีภาวะดื้อยากันชัก ครึ่งหนึ่งสามารถผ่าตัดรักษาได้ตามวิธีมาตรฐาน อีกครึ่งหนึ่งต้องตรวจหาจุดกำเนิดชักซึ่งมีความซับซ้อน ซึ่งสถาบันประสาทวิทยาสามารถผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้ทุกกลุ่ม หากพบผู้ป่วยมีอาการชักในที่สาธารณะ ต้องตั้งสติ และไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กดไม่ทั้งหมด ชักจะหยุดเอง แค่ดูแลให้ผู้ป่วยชักอย่างปลอดภัยก็เพียงพอ นอกจากนี้ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคลมชักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โดยมีกิจกรรมเพื่อจัดหาทุน เช่น กิจกรรม “ชัก...อยากจะวิ่ง” ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ในปีนี้จะจัดในวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2563 ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ป่วย ลงทะเบียนออนไลน์ที่ https://prrunner.net/race/regist-run-outofshadows/