‘เคซีอี’ ราคาพุ่งต่อเนื่อง โบรกแตะเบรกบาทแข็งยังกดดัน
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เฉพาะเฟสแรก ยื้ดเยื้อกันมานานกว่าที่จะตกลงได้ในที่สุดหลังมีการทำสัญญายอมถอยคนละก้าว เพื่อลดแรงปะทะจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งสองประเทศจนทำให้บรรยากาศการค้าของโลกอึมคึมไปด้วย
ตามข้อมูลที่ผู้นำสหรัฐและจีนสามารถ ตกลงในหลักการเจรจาการค้าเฟสแรก โดยสหรัฐจะยังคงเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีน วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่จะลดภาษีเหลือ 7.5% จากเดิม 15% สำหรับวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์
ข่าวดังกล่าวมุมมองต่อการค้าโลกผ่อนคลายแค่ชั่วคราว เพราะยังมีความกังวลการเจรจาในเฟส 2 ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งความตรึงเครียสทางการค้าที่สหรัฐ ยังยืนยันปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูเป็น 100% (เดิม 10%) สำหรับเครื่องบินพาณิชย์ และ 25% สำหรับสินค้าเกษตร และเพิ่มจำนวนรายการสินค้า ตอบโต้กรณีให้เงินอุดหนุนแอร์บัส
รวมทั้งขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าฝรั่งเศส กรณีเก็บภาษีดิจิทัล 3% บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐเพราะมองเป็นการเลือกปฎิบัติ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ประเด็นสงครามการค้ายังรอวันระอุขึ้นมาอีกในปี 2563
เมื่อหันมาดูในไทยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างได้รับผลกระทบไปแล้วในช่วงปลายไตรมาส 2และไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านมา ยิ่งในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกยิ่งได้รับผลกระทบหนักเนื่องจากมีปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าเข้ามาทำให้กำไรสกุลต่างประเทศที่แปลงมาเป็นบาทน้อยลง
กลุ่มชิ้นส่วนและอิเลคทรอนิกส์ กระทบหนักสุดในช่วงที่ผ่านมา บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออก 100 % แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า PCB อันดับต้นๆ ของโลก ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านยานยนต์ อุตสาหกรรม อุปโภค-บริโภค คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร โดยมีสัดส่วนถึง 80 % ในอุตสาหกรรมยานยนต์
ช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ลดลงหนักสุด ยอดขายรวมจํานวน 3,088.3 ล้านบาท ลดลง 16.31 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกําไรสุทธิ 255.1 ล้านบาท ลดลงถึง 54.42 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ท่ามกลางผลกระทบหนักจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ และยูโร ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐโดยตรงราว 10-30% ของรายได้รวม
อย่างไรก็ตามด้านเคซีอีได้ปัจจัยบวกเข้ามาหนุนทั้งราคาสินค้าวัตถุดิบหลัก อย่าง ทองแดง ปรับตัวลดลงจึงทำให้ต้นทุนปรับลดเช่นกัน และการขยายกำลังการผลิตจากโครงการที่ลาดกระบังเฟส 3 ทำให้มีกำลังผลิตใหม่เข้ามาในไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ 1.75 ล้านตารางฟุตต่อเดือน
เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่ได้รับผลกระทบกับอัตราการกำไรแล้วถือว่า เคซีอียังประคองตัวได้ดี จากปี 2561 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32 บาทต่อดดอลาร์ อัตรากำไรขั้นต้นทำได้ 26 % ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 30.45 บาทต่อดอลลาร์ อัตรากำไรขั้นต้นทำได้อยู่ที่ 20.7 % แม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน
ตัวเลขที่ได้รับผลกระทบแต่บริษัทยังสามารถประคองตัวไว้ได้ และยังมีการผลิตเพิ่มตามการขยายกำลังผลิตใหม่เข้ามา ส่งผลทำให้คาดหวังถึงการฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2562 ทำให้ราคาหุ้นในช่วงเกือบ 2 เดือนขยับขึ้นมาถึง 55.40 % จากราคา 14.80 บาท (1 พ.ย.) มาอยู่ที่ 23 บาท (16 ธ.ค.) และยังถือว่าเป็นราคาสูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือนอีกด้วย
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ แนะนำ “ขาย” ราคาเป้าหมาย 14.20 บาท แม้ว่าสัดส่วนผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2563 จากคำสั่งซื้อที่เลื่อนไปเป็นปีหน้า หากแต่บริษัทอาจจะต้องลดสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 จากผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนในการลดต้นทุนพร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตของ HDI เพื่อเพิ่มอัตรากำไรเนื่องจากสินค้าประเภท Radar ที่มีอัตรากำไรสูง และการแข่งขันจำกัด ดังนั้นจึงปรับประมาณการกำไรปี 2563 ลงเป็น 902 ล้านบาท ลดลง 55% จากปี โดยมีความเสี่ยงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น