‘กสิกร’ เปิด '2โจทย์' ท้าทายธุรกิจแบงก์ปี 63
“กสิกรไทย” ชี้โจทย์ใหญ่ท้าทายธุรกิจแบงก์ปี 63 “เศรษฐกิจชะลอตัว-บุคลากรด้านดิจิทัล” ต้องปรับแผนเสริมทัพด้านดิจิทัล- ไอที ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมเมอร์ แจงไม่ต้องปรับเป้าหมายธุรกิจใหม่
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)( KBANK) กล่าวว่า โจทย์ท้าทายของแบงก์ในปี 2563 หลักๆ คือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากผลกระทบสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย
ปัจจัยท้าทายสำหรับธุรกิจแบงก์อีกด้าน คือเรื่องของคน ที่แบงก์ต้องหาคนเก่ง มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีและดิจิทัลเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เช่นนักวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Scientist) และโปรแกรมเมอร์ ที่เขียนเกี่ยวกับโปรแกรมดิจิทัลแบงก์ หรือคนที่มีความรู้ด้านการออกแบบโปรแกรมที่ใช้บนมือถือต่างๆ(User Interface Design)เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
ที่ผ่านมา ธนาคารมีการสรรหาบุคลากรด้านเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบินไปหาคนไทยในต่างประเทศ หรือที่เรียนอยู่ในมหาลัยชั้นนำทุกๆปี รวมถึงการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในต่างประเทศทุกปี เพื่อดึงคนเหล่านี้กลับมาเป็นบุคลากรแบงก์
“ที่ผ่านมาแบงก์บินไปต่างประเทศทุกปี เฉพาะสหรัฐปีละ 2 ครั้ง ทั้งนิวยอร์ก คอลัมเบีย ชิคาโก้ รวมถึงไปมหาลัยชั้นนำ อย่างMITมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อให้แบงก์ได้คนใหม่ๆเข้ามาอยู่กับแบงก์มากขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มาอยู่กับแบงก์วันนี้ อาจเป็นคนที่ผู้บริหารเก่าๆเคยไปพบ ไปดีลไว้ตั้งแต่อดีต เราก็ต้องทำต่อเนื่อง ให้รู้ว่าแบงก์แอคทีฟต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ทุนการศึกษา เพราะหากไปหาคนต่างประเทศมาเลย แบงก์ก็อาจสู้เงินเดือนไม่ไหว”
ด้านการแข่งขันของธุรกิจแบงก์ ถือเป็นเรื่องปกติที่แบงก์ต้องเจอ แต่แบงก์ไม่ได้มองว่า ธนาคารในประเทศเป็นคู่แข่งขันของกสิกร เรามองว่าแบงก์ในประเทศต้องรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อสู้กับคู่แข่งขันที่มาจากภายนอก ทั้งกับฟินเทค สตาร์ทอัพต่างๆ ที่อยากเข้ามาทำธุรกิจแบงก์ในประเทศไทย การรวมตัวของแบงก์ไทย ยังช่วยลดต้นทุนของทั้งระบบ เช่นที่ธนาคารจับมือกับแบงก์ออมสิน เพื่อทำตู้เอทีเอ็มสีขาว เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจผ่านตู้เอทีเอ็ม ทั้งของประชาชน และในส่วนของแบงก์
ส่วนเป้าหมายการเติบโตของธนาคารปีหน้า แม้จะมีความเสี่ยงและความท้าทายมากขึ้นสำหรับธุรกิจแบงก์ แต่เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆอยู่ในกรอบที่แบงก์ประเมินไว้อยู่แล้ว โดยการเติบโตปีหน้าเช่น สินเชื่อรวมคาดว่าเติบโตราว4-6% สินเชื่อธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 9-11% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลอยู่ในกรอบ3.6-4.0% และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM)อยู่ที่ 3.1-3.3%รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยติดลบ 5-17%
“ในด้านเอ็นพีแอล เชื่อว่าเป็นโจทย์ที่แบงก์ต้องเจออยู่แล้ว หลังเราผ่านต้มยำกุ้ง ทำให้เอ็นพีแอลวันนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวแล้ว และวันนี้เงินกองทุนเรามีสูงมาก ส่วนเป้าหมายปีหน้า เราได้คาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆไว้อยู่แล้ว เห็นตั้งแต่ก่อนทำแผนธุรกิจของปีหน้า ความเสี่ยง ความท้าทายที่จะเจอ รวมอยู่ในเป้าหมายของแบงก์แล้ว ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการลดดอกเบี้ย ทำให้ไม่ต้องปรับเป้าหมายใหม่"