ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 6 เดือน
ส.อ.ท.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เร่งผลิตสินค้ารับเทศกาลปีใหม่ เอกชนวอนรัฐเร่งรัด Made in Thailand ให้เป็นรูปธรรม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.2 ในเดือนตุลาคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธันวาคม
ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกลุ่มสินค้าแฟชั่น อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพและ ความงาม เป็นต้น เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,205 ราย ทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน ผู้ประกอบการร้อยละ 60.1 ยังคงกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก, ร้อยละ 45.0 กังวลเรื่องราคาน้ำมันและร้อยละ 42.2 กังวลเรื่องการเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 69.5 และ 20.7 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 โดยลดลงจากระดับ 102.9 ในเดือนตุลาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตร
ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกลดลง แต่อย่างไรก็ตามหากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้จะทำให้การส่งออกของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าภาครัฐควร หาแนวทางช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น พิจารณาปรับลดค่าสาธารณูปโภคชั่วคราว ภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อชดเชยค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ