ศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาฯ เปิดประสบการณ์รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง รับมือยุคดิสรัปชั่น
สมาคมนิสิตเก่าวิศวะ จุฬาฯ จัดงาน Intania Dinner Talk ชวนรุ่นพี่ผู้บริหารทุกภาคอุตสาหกรรม ถ่ายทอดประสบการณ์แก่รุ่นน้อง เตรียมพร้อมรับมือยุคดิสรัปชั่น ด้านศิษย์เก่า ระบุเด็กรุ่นใหม่ ไม่ไร้ความอดทนเพียงแต่ทำสิ่งที่ชอบ แนะยอมรับความต่างระหว่างวัย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกฯ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการจัดงาน Intania Dinner Talk 2019:2020 The next disruption is coming ของสมาคมนิสิตเก่าวิศวะ จุฬาฯ นั้น ถือเป็นงานประจำปีของสมาคมที่จัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้ เป็นเรื่องเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ เตรียมพร้อมรับมือ และเป็นโอกาสของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การเสวนาจากศิษย์เก่า วิศวะจุฬาฯ ที่มาจากทุกสาขาอาชีพมาแลกเปลี่ยน บอกเล่าประสบการณ์ในทุกแง่มุมจะช่วยเติมเต็มความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่
“เด็กวิศวกรในยุคดิสรัปชั่น ต้องหลากหลายและบางเรื่องเขาอาจจะไม่รู้ในชั้นเรียน เช่น มีรุ่นพี่ Mentor เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า การทำหุ่นยนต์ ต้องความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และต้องไปศึกษาวิธีการรำไทยเพื่อดูการเคลื่อนไหวของมือ ของนิ้ว ทำให้หุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์มากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นิสิตชั้นปีที่ 4 อาจไม่ทราบ เป็นต้น"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ประสบการณ์จริงของคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปดัดแปลง ประยุกต์ให้แก่น้องๆ ได้รู้ อีกทั้งสมาคมอยากเห็น คือ ต้นแบบให้มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาของไทย จึงอยากเชิญศิษย์เก่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จ อย่าคิดว่าประสบการณ์ตนเอง เป็นเรื่องล้าสมัย อยากให้กลับเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้ให้แก่เด็กรุ่นใหม่
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯ ระหว่างปี 2561-2562 ได้จัดโครงการChamp Engineering ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงประสบการณ์ศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาฯ ที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จมาแบ่งปันและเตรียมน้องนิสิตปัจจุบันพร้อมเข้าสู่การทำงานจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
มีความท้าทายรอบด้าน เพื่อช่วยอุตสาหกรรมไทย ตลาดแรงงานไทยและสังคมไทย โดยในโครงการจะมีศิษย์เก่าหรือรุ่นพี่ในฐานะผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง อย่างละ 1 คน ดูแลน้อง 4 คน เตรียมการให้เด็กรุ่นใหม่ให้นิสิตปีที่ 4 ที่จะจบออกไป พบกับสิ่งที่ท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือรูปแบบการทำงาน ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
โครงการ Champ Engineering ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยขณะนี้จำนวนเด็กที่เข้าร่วมchamp มีปีละ 72 คน รวม 144 คน และมีรุ่นพี่ซึ่งทำหน้าที่ Mentor จำนวน 36 คนต่อปี ซึ่งนิสิตเข้าร่วมโครงการ Champ Engineering พวกเขามีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีความมั่นใจมากขึ้น
ขณะเดียวกันเหล่ารุ่นพี่ Mentor ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่รุ่นน้อง พวกเขาก็ได้เรียนรู้จากรุ่นน้อง ได้มุมมองความคิดจากเด็กรุ่นใหม่ และได้ชี้แนะรุ่นน้องที่อาจจะมีความเสี่ยงเลือกเดินไม่ถูกต้องได้นอกจากนั้น ทางสมาคมยังมีกิจกรรมค่ายยุววิศวกรบพิธ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้นิสิตวิศวกรได้มองเห็นประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่มองเพียงประโยชน์ส่วนตน
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กล่าวว่าได้เข้าร่วมเป็น Mentor ในโครงการ Champ Engineering ปีนี้เป็นที่ 2 แล้ว โดยจะเป็นการให้รุ่นพี่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรุ่นน้อง เพื่อให้รุ่นน้องที่ยังไม่เห็นภาพธุรกิจ การปฏิบัติได้มีโอกาสรับฟัง เรียนรู้ร่วมกัน
จากการเป็น Mentor ทำให้ได้มุมมองความคิดจากเด็กรุ่นใหม่เยอะมาก ซึ่งจริงๆพวกเขาเป็นเด็กเก่ง มีความตั้งใจดี และทำเฉพาะในสิ่งที่ชอบ ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความอดทนในการทำงาน เพียงแต่เขาไม่ได้มีมุมมองอย่างเด็กในอดีตที่ต่อให้ไม่ชอบงานเหล่านั้นก็ทนทำ
แต่เด็กรุ่นใหม่ เขาจะทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เราจึงได้นำเสนออีกมุมมองหนึ่งให้แก่พวกเขา เพราะสิ่งไม่ชอบในวันนี้ วันหน้าพวกเขาอาจจะชอบ โดยต้องทำให้เขายอมรับความคิดเห็นของเราจากการที่เรายอมรับความคิดเห็นของเด็กก่อน พยายามเสนอให้พวกเขาได้ลองทำ เพื่อให้เกิดความสนใจ เนื่องจากปัญหาที่มาท้าทายจะทำให้สอนพวกเขาไปในตัว
“สิ่งสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ คือการยอมรับความคิดเห็นของคนสองกลุ่มที่ต่างวัยกัน ผู้ใหญ่ยอมรับความคิดของเด็กและเด็กยอมรับความคิดของผู้ใหญ่ เพราะต้องยอมรับว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการแลกเปลี่ยน หรือยอมรับกัน โครงการนี้ทำให้ผู้ใหญ่กับเด็กได้แลกเปลี่ยน พูดคุย และยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น”นายสมคิด กล่าว