กลุ่มสื่อสารเข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว ประมูล ‘5จี’ ไร้แรงกดดัน

กลุ่มสื่อสารเข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว  ประมูล ‘5จี’ ไร้แรงกดดัน

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 ช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 3G สู่ 4G ด้วยการแข่งขันอันดุเดือด เพื่อประมูลชิงคลื่นความถี่เข้ามาไว้ในมือให้มากที่สุดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 เจ้าเดิม และ 1 ผู้ท้าชิงรายใหม่

สุดท้ายสงครามจบลงในลักษณะที่ทุกฝ่ายบอบช้ำไปตามๆ กัน ทั้งจากมูลค่าคลื่นที่ต้องจ่ายในระดับสถิติโลกประมาณ 6.5 – 6.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการแข่งขันออกโปรโมชั่นชิงลูกค้า จนกลายเป็นสงครามราคา กดดันผลประกอบการแต่ละเจ้าลดฮวบลงมาพร้อมกับราคาหุ้น

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เคยมีกำไรถึง 3.91 หมื่นล้านบาท ลดลงมาเหลือ 2.96 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 บมจ.โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เคยมีกำไร 1.07 หมื่นล้านบาท พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 4.36 พันล้านบาท ในปี 2561 ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่เพิ่งจะพลิกกลับมามีกำไรได้สองปีที่ 4.41 พันล้านบาท ในปี 2558 ก็ต้องกลับมาขาดทุนต่อหลังการประมูล หลังจากนั้นผลประกอบการจากการดำเนินงานก็ค่อยๆ ซึมลง แต่ยังได้กำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนมาช่วยพยุง

เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ราคาหุ้นของทั้ง 3 เจ้าใหญ่ดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว ADVANC ซึ่งเคยขึ้นไปทำสถิติไว้ที่ 311 บาท ลงมาแตะจุดต่ำที่ 128 บาท DTAC จากที่เคยทะลุ 100 บาท ลงมาซึมอยู่ที่เพียง 30 – 40 บาท ช่วงปี 2559 ส่วน TRUE ทะลุ 10 บาท ขึ้นไปได้ในช่วงพีค ปัจจุบันซื้อขายที่เพียงประมาณ 5 บาท

ช่วงปี 2559 – 2561 หุ้นกลุ่มนี้แกว่งขึ้นลงอยู่ในโซนล่าง ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีมากในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยดัชนีของกลุ่มเติบโตถึง 30% จากปีก่อน แต่ก็ไม่วายถูกเทขายออกมาจากความกังวลในเรื่องสงครามราคา และการประมูล 5G ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2563 จนช่วงบวกลดลงมาเหลือเพียง 11 – 12%

อย่างไรก็ดี "พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า ระหว่างปี 2562 – 2563 คือ ช่วงแห่งการเก็บเกี่ยวของหุ้นในกลุ่มนี้ หลังจากที่ลงทุนไปสูงมากก่อนหน้านี้

“ในปี 2562 โดยรวมจะเห็นว่าผลประกอบการของกลุ่มสื่อสารเริ่มกระเตื้องขึ้นมาแล้ว ซึ่งในปี 2563 รายได้ของกลุ่มนี้จะโตต่อในระดับ 4-5% ส่วนกำไรจะโตในระดับ 10-15% และกระแสเงินสดจะยิ่งโตสูงกว่านั้น ทำให้เงินปันผลของหุ้นในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น”

อ่านข่าว-ฟังชัดๆ 3 ค่าย พร้อมลุย 5G แค่ไหน 

ที่ผ่านมาแต่ละบริษัทเร่งลงทุนโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นงบลงทุนสำหรับโครงข่าย 4G จะลดลงไปมากในปีหน้า พร้อมๆ กับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ 5G ต่อไป ซึ่งบริษัทจะเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้นอีกครั้งในปี 2564 แต่เงินลงทุนจะไม่ได้สูงแบบช่วง 4G

ส่วนสำคัญคือ เงินลงทุนสำหรับคลื่นความถี่ ซึ่งจะเปิดประมูลช่วงเดือน ก.พ. 2563 บนสมมติฐานว่าไม่ได้มีผู้เล่นรายใหม่ เงินที่แต่ละบริษัทน่าจะใช้ประมูลคาดว่าจะไม่เกิน 1.2 – 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อชิงสัดส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มาให้ได้เจ้าละประมาณ 60 เมกะเฮิรตซ์ จากจำนวนรวมทั้งหมด 190 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนอีกสองคลื่นความถี่ที่จะเปิดประมูลพร้อมกันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของผู้ประกอบการทั้งสามราย

เดือน ก.พ. 2563 ถือเป็นจุดที่จะกำหนดอนาคตของหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้ง 3 ราย ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2562 เป็นปัจจัยแรกที่จะสะท้อนให้เห็นว่าการแข่งขันที่ผ่านมายังรุนแรงจนกระทบกับการเติบโตของรายได้หรือไม่ ถ้ารายได้ยังเติบโต เชื่อว่าการแข่งขันหลังจากนั้นจะไม่รุนแรงเหมือนในอดีตอีกแล้ว

ปัจจัยที่สอง คือ ผู้เล่นรายใหม่ในตลาด ซึ่งไม่น่าจะมีเข้ามา เพราะกระแสข่าวที่ว่า กสทช. น่าจะตัดคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปจากการประมูลรอบนี้ ถือเป็นปัจจัยหนุนให้หุ้นกลุ่มนี้ฟื้นตัวขึ้นมาล่าสุด เพราะน่าจะทำให้ผู้เล่นรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ เพราะคลื่นที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอให้แข่งขัน

“ถ้าทุกอย่างยังอยู่บนสมมติฐานเหล่านี้ เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารอาจจะผันผวนในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ก่อนจะพุ่งขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ได้ในอดีต”

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า เราเชื่อว่าราคาหุ้นในกลุ่มที่ปรับตัวลงมาในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันด้านราคาในตลาด Pre-paid ที่กลับมารุนแรงมากขึ้น แต่เริ่มเห็นสัญญานที่ดีขึ้นในเดือน ธ.ค. นี้ โดยทั้ง ADVANC และ DTAC มีการถอดสิทธ์โทรฟรีออกจากแพ็คเกจ ในขณะที่ TRUE มีการจำกัดการโทร ซึ่งเรามองว่าผู้แข่งขันแต่ละรายได้เรียนรู้บทเรียนที่เคยโหมใช้โปรโมชั่นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด pre-paid เรามองว่าเป็นแค่ระยะสั้นที่จะรักษาหรือช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน มองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ และมองว่า DTAC โดดเด่นมากที่สุดในกลุ่ม

157667991975