เปิดพอร์ตแบงก์กรุงเทพ ถือหุ้น 48 บจ.มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน
เปิดพอร์ตลงทุน “แบงก์กรุงเทพ” พบถือหุ้นบจ.รวม 48 บริษัท มูลค่า 5.28 หมื่นล้าน ขณะ บิ๊กล๊อตหุ้น “บีทีเอส” อลเวง ผู้บริหารเชื่อ ธนาคารกรุงเทพ ขายเกลี้ยง เหตุได้รับแจ้งก่อนหน้านี้ ด้าน ผู้บริหารบีบีแอล ยันไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเพื่อไปจ่ายค่าหุ้นแบงก์อินโด
หลังจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ประกาศ “บิ๊กดีล” ด้วยการทุ่มเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อกิจการ ธนาคารพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค หรือ “เพอร์มาตา” ของอินโดนีเซีย ได้ไม่นาน ก็มีกระแสข่าวลือเต็มห้องค้าหลักทรัพย์ว่า ธนาคารกรุงเทพ อาจต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ในมือออกมาบางส่วน เพื่อนำเงินไปชำระค่าหุ้น ธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งมีกำหนดจ่ายเงินในปีหน้า
กระแสข่าวดังกล่าว มีเค้าความจริงมากขึ้นเมื่อปรากฎรายการ “บิ๊กล็อต” หุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จำนวน 19 รายการ รวม 600 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 12.40 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 7,440 ล้านบาท ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเปิดตลาดเช้าของวานนี้(19ธ.ค.)
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS แสดงความเห็นกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า รายการบิ๊กล็อตที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นการขายจากฝั่งของธนาคารกรุงเทพ เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้แจ้งมายังบริษัทว่า จะทำการขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับกองทุนหลายแห่งที่แสดงความสนใจ โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนในประเทศ จึงคาดว่ารายการบิ๊กล็อตที่เกิดขึ้นมาจากฝั่งของธนาคารกรุงเทพ
“เชื่อว่าแบงก์กรุงเทพ มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อไปซื้อกิจการแบงก์ในอินโดนีเซียจึงทำรายการดังกล่าว”
อย่างไรก็ตาม นายกวิน ย้ำกับกรุงเทพธุรกิจว่า ไม่ได้กังวลกับดีลที่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่เข้ามาซื้อเป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมีนโยบายการลงทุนระยะยาว อีกทั้งผลดำเนินงานของบริษัทก็เติบโตต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อราคาหุ้นของบริษัท ทำให้ปรับตัวลดลง แม้ว่าราคาหุ้น บิ๊กล็อต ที่ทำรายการจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปิด ณ วันก่อนหน้า
ราคาบิ๊กล็อตหุ้น BTS ที่ทำรายการในช่วงเช้าของวานนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 12.40 บาท ต่ำกว่าราคาปิดตลาด ณ วันที่ 18 ธ.ค.2562 ซึ่งอยู่ที่ 12.90 บาท ส่งผลให้ราคาหุ้น BTS ในช่วงเช้าของวานนี้ปรับลดลงทันทีมาทำจุดต่ำสุดของวันที่ 12.40 บาท เท่ากับราคาที่ทำบิ๊กล็อต
แต่หลังจากนักลงทุนหายตื่นตระหนก ก็เริ่มมีแรงซื้อหุ้น BTS กลับเข้ามา ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น จนมาปิดตลาดที่ระดับ 13.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2.33% มูลค่าการซื้อขายรวม 3,000.62 ล้านบาท
ทว่า ผู้ลงทุนเริ่มเกิดความสับสนขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารของ ธนาคารกรุงเทพ ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น BTS เพื่อนำเงินไปชำระค่าหุ้น ธนาคารเพอร์มาตา เนื่องจากธนาคารกรุงเทพมีเงินทุนสำรองและกำไรสะสมที่เพียงพอในการทำดีลดังกล่าวอยู่แล้ว พร้อมปฎิเสธให้ความเห็นต่อรายการบิ๊กล็อตที่เกิดขึ้น
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจว่า” ว่า กระแสข่าวที่ว่าธนาคารขายหุ้น BTS ออกมานั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบว่าธนาคารได้ขายหุ้นดังกล่าวออกมาจริงหรือไม่ แต่ธนาคารยืนยันว่า ได้เตรียมเงินสำหรับการซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาเอาไว้แล้ว โดยมาจากเงินทุนสำรองและกำไรสะสมที่มีมาตั้งแต่อดีต จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องขายหุ้น BTS เพื่อไปชำระค่าหุ้นธนาคารเพอร์มาตา
อย่างไรก็ตาม นายเดชา กล่าวด้วยว่า หากธนาคารขายหุ้น BTS ออกมาจริง ก็เชื่อว่า จะมาจากวัตถุประสงค์อื่นๆ ไม่ใช่เพราะต้องนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาอย่างแน่นอน
“ข่าวก็ออกมาเยอะ ซึ่งผมก็ยังไม่ทราบเกี่ยวกับการขายหุ้นครั้งนี้ เพราะถ้าหากแบงก์จะขายจริงๆ ก็คงไม่ใช่เพราะติดปัญหาอะไรแน่นอน แต่ยืนยันว่าแบงก์กรุงเทพไม่มีวัตถุประสงค์ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น BTS เพื่อเตรียมเงินไปซื้อเพอร์มาตาแน่นอน แต่หากเป็นการขายหุ้นจากฝั่งแบงก์จริงๆก็คงมาจากเหตุผลอื่นๆ ไม่ได้มาจากเหตุผลนี้ เพราะเงินเรามีเพียงพอ ไม่ต้องหาเพิ่ม วันนี้เงินสำรองเรามีเท่าไหร่ เยอะมาก เงินกำไรสะสมที่สะสมมาก็เพียงพอแล้วในการเข้าซื้อกิจการ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารต้องขายหุ้นอะไรออกมา”นายเดชากล่าว
ด้าน นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ธนาคารได้ขายหุ้น BTS ออกมาหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ธนาคารได้เตรียมเงินไว้แล้วสำหรับการเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา อีกทั้งระยะเวลาการจ่ายเงินซื้อหุ้น ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ หรือในปีหน้าตามแผน ที่คาดว่ากระบวนการซื้อกิจการธนาคารจะเสร็จสิ้น ดังนั้น แบงก์มีเวลาพอสมควรในการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ
“เรื่องการขายหุ้น อันนี้คงไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่สามารถตอบเรื่องนี้ได้ แต่เชื่อว่า แบงก์มีเงินเพียงพอแน่นอน และเตรียมพร้อมไว้ก่อนอยู่แล้วในด้านเงินทุนเพื่อเข้าไปซื้อเพอร์มาตาในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม แม้ ธนาคารกรุงเทพ ยืนยันว่า มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปซื้อหุ้น ธนาคารเพอร์มาตา แต่ดูเหมือนว่า นักวิเคราะห์ ประเมินว่า ยังมีโอกาสที่ ธนาคารกรุงเทพ ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมา เพื่อรักษาสภาพคล่อง
นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ดีลการซื้อธนาคารเพอร์มาตามีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งดีลนี้ ธนาคารกรุงเทพ มีเงินทุนเพียงพอไม่จำเป็นต้องทำการเพิ่มทุน โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และยังมีสภาพคล่องอื่น เช่น เงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุน ตราสารหนี้ อินเตอร์แบงก์ มูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังมีเงินลงทุนในหุ้น ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนรวมกันกว่า 1.2 แสนล้านบาท จึงมีโอกาสที่จะขายหุ้นเหล่านี้ หรือไม่ก็ขายตราสารหนี้ออกมาได้บ้าง ซึ่งธนาคารถือว่ามีหลายทางเลือก
สำหรับหุ้น BTS ทาง ธนาคารกรุงเทพ ได้เข้าลงทุนมานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มถือหุ้นครั้งแรกช่วงกลางปี 2553 และทยอยถือเพิ่มต่อเนื่องจนล่าสุดมีจำนวนหุ้นที่ถือรวมกว่า 545 ล้านหุ้น
นอกจากหุ้น BTS แล้ว ธนาคารกรุงเทพยังถือหุ้นอื่นอีกจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีหุ้นที่ถือรวมหน่วยลงทุนของกองทุนต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ราว 48 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.28 หมื่นล้านบาท โดย 20 บริษัทที่มีมูลค่าการถือหุ้นมากสุดได้แก่ 1. บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ถือหุ้นจำนวน 270.90 ล้านหุ้น มูลค่า 9,684.86 ล้านบาท 2. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถือหุ้นจำนวน 47.50 ล้านหุ้น มูลค่า 7,457.50 ล้านบาท 3. BTS ถือหุ้น 545.46 ล้านหุ้น มูลค่า 7,036.52 ล้านบาท 4. บมจ. วีจีไอ (VGI)ถือหุ้น 719.97 ล้านหุ้น มูลค่า 6,695.76 ล้านบาท
5.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM ) ถือหุ้น 303.44 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 3,368.28 ล้านบาท 6.บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI)ถือหุ้นจำนวน 10. 61 ล้านหุ้น มูลค่า 3,173.34 ล้านบาท 7.บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA ) ถือหุ้น 130.02 ล้านหุ้น มูลค่า 2,613.45ล้านบาท 8. บมจ.ยู ซิตี้ (U-P) 903.84 ล้านหุ้น 2,566.91 ล้านบาท
9.ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้(FTREIT) ถือ 104.94 ล้านหน่วย มูลค่า 1,542.73 ล้านบาท 10. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) 87.16 หน่วย 841.14 ล้านบาท
11.บมจ.ช.การช่าง ( CK) ถือหุ้นจำนวน 38.95 ล้านหุ้นมูลค่า 732.26 ล้านบาท 12 .บมจ. ทีพีไอ โพลีน ( TPIPL) ถือหุ้น 657.69 ล้านหุ้น มูลค่า 716.88 ล้านบาท 13.บมจ.การบินกรุงเทพ( BA)ถือหุ้น 105 ล้านหุ้น มูลค่า 703.50 ล้านบาท 14.กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค (FUTUREPF) ถือ 27.97 ล้านหน่วย มูลค่า 668.48 ล้านบาท 15. บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK)ถือหุ้น 25.85 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 25.75 บาท มูลค่า 665.80 ล้านบาท
16. บมจ.อาร์เอส (RS ) ถือหุ้น จำนวน 50.33 ล้านหุ้น มูลค่า 598.94 ล้านบาท 17.บมจ.สหยูเนี่ยน ( SUC)ถือหุ้น 12.32 ล้านหุ้น มูลค่า 536.13 ล้านบาท 18.บมจ. วนชัย กรุ๊ป ( VNG) ถือหุ้น 92.76 ล้านบาท มูลค่า 345.08 ล้านบาท 19. บมจ. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ( ASP) ถือหุ้น 178 ล้านหุ้น มูลค่า 276.05 ล้านบาท 20.บมจ.มิลล์คอน สตีล ( MILL) ถือหุ้น 320 ล้านหุ้น มูลค่า 246.40 ล้านบาท