สธ. ชวนประชาชน 'วิ่งไล่ยุง' ดีเดย์ 10 ม.ค.นี้
สธ.จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย “วิ่งไล่ยุง” 10 มกราคม 2563
วันนี้ (25 ธันวาคม 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ (VDO Conference) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย“วิ่งไล่ยุง” ช่วงเวลาทองก่อนการระบาดในเดือน มกราคม – มีนาคม ในบ้านตนเองและสถานที่สำคัญต่าง ๆ และสนับสนุนการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรค
ดร.สาธิตกล่าวว่า ในปี 2562 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 ธันวาคม มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 125,235 ราย มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 2 เท่า เสียชีวิต 131 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดต่อเนื่องไปถึงปี 2563 อาจพบผู้ป่วยสูงถึง 140,000 ราย ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลายมีรายงานผู้ป่วยสะสม 11,046 ราย สูงกว่าในปีที่ผ่านมา 4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อาชีพทำสวน ที่สำคัญจากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบว่าในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล ยังพบลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในโรงเรียนและวัด มีความเสี่ยงเป็นแหล่งแพร่ระบาดของทั้ง 2 โรคได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในช่วงเดือน มกราคม - มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองก่อนเข้าสู่ฤดูการระบาด เนื่องจากไข่ยุงลายสามารถอยู่ได้เป็นปี โดยเฉพาะตามภาชนะ เช่น โอ่ง แจกัน จานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ถังเก็บน้ำในห้องน้ำ ที่มีน้ำขังจะมีไข่ยุงเกาะ เมื่อเข้าหน้าฝนจะฟักตัวเป็นยุงลาย ต้องขัดไข่ยุงออกจากภาชนะ ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่จะต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ตัดวงจรชีวิตของยุงลาย ลดการแพร่ระบาดของโรค
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักสาธารณสุขทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.จัดกิจกรรมรณรงค์ชุมชนปลอดยุงลาย “วิ่งไล่ยุง” สร้างกระแสการป้องกันควบคุมโรคในช่วงก่อนการระบาด เดือนมกราคม - มีนาคม 2563 2.ประสานท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” ต่อเนื่องตลอดปี ในโรงเรียน วัด โบสถ์ มัสยิด สถานที่ราชการ และสถานพยาบาล 3.ติดตามสถานการณ์และพื้นที่เสี่ยง สนับสนุนท้องถิ่นและอำเภอเสี่ยงสูงจัดทำแผนรับการระบาดในปี 2563 ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝน 4.สถานพยาบาลทุกแห่ง จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ให้ทราบแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5.สื่อสารความเสี่ยง สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันยุงกัด อาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ นอกจากนี้ ได้ให้ อสม.เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีไข้สูงนานเกิน 2 วันอาจเป็นไข้เลือดออก ให้รายงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาล เพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว
“ขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและยุงลายในบ้านตนเอง และร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย “วิ่งไล่ยุง” ระยะทาง 5 กิโลเมตร ในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 16.00 – 18.00 น. ณ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี และที่จังหวัดต่างๆ จัดขึ้น สร้างกระแสการป้องกันโรคจากยุงลาย” ดร.สาธิตกล่าว