'กองทุน' คัดหุ้นเด่นปี 63 กลุ่ม 'ปันผล-บจ.เล็ก' มาแรง
แม้ทิศทางภาวะการลงทุนในปี2563 ยังมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่บรรดาผู้จัดการกองทุน มองตรงกันว่า “ตลาดหุ้นไทย” ยังเป็นสินทรัพย์ที่ยังคงมีความน่าสนใจ
สะท้อนมุมมองเชิงบวก ที่คาดว่าดัชนี SET จะกลับขึ้นไปที่ระดับ1,780 จุด หรือมีอัพไซด์ จากปลายปี 2562 ประมาณ 6% บนพื้นฐานกำไรต่อหุ้น (EPS) เติบโต 10% และระดับ P/E ระดับ17 เท่า
ด้วยปัจจัยสนัยสนุนจากภาพเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง ภาวะดอกเบี้ยต่ำ และธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย ทำให้ตลาดเกิดใหม่น่าจะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างแพง และมีความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องการไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดี และการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2563
รวมถึงนักลงทุนเลิกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากที่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ผ่านพ้นจุดต่ำสุด ขณะที่ PMI หลายประเทศเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือ 50 จุด โดยเฉพาะตัวเลข PMI ของจีน บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณการขยายตัว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มอัดฉีกสภาพคล่องเข้าระบบ ซึ่งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยหนุนต่างๆกลับทิศ โดยเฉพาะผลการเจรจาการค้า ก็มีโอกาสที่จะเห็นดัชนี SET หลุดลงมาแตะที่ระดับ 1,500 จุดได้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด คือ สงครามการค้าสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าน่าจะยังไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะกับประเทศจีนที่ยังมีการเจรจาเฟสต่อๆ ไป ซึ่งประเด็นนี้จะสร้างความกังวลให้ตลาดเป็นระยะๆ ขณะที่เศรษฐกิจไทยเองก็เติบโตในระดับ “ต่ำกว่าศักยภาพ” แต่ยังเติบโตได้ดีกว่าปี 2562 โดยจากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประเมินว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% จากปี2562 ขยายตัว2.5% ส่วนเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่าเล็กน้อยและสร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออก
จากปัจจัยดังกล่าว ธีมการลงทุนหุ้นในปี 2563 “ธีรนาถ รุจิเมธาภาส ” กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จึงแนะนำลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยแนะนำลงทุนใน"หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์" เพื่อกระแสเมกะเทรนด์ เนื่องจากตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนรออยู่ ทั้งประเด็นเรื่องสงครามการค้า และภาวะเศรษฐกิจ ที่แม้จะไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็เติบโตได้อย่างเปราะบาง ดังนั้น ถ้าเป็นหุ้นทั่วไปอาจจะผันผวน แต่หุ้นเฮลธ์แคร์ ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนอยู่เช่นเคย
ดังนั้น การจะลงทุนหุ้นที่ผันผวนไม่มาก และสามารถลงทุนในระยะยาวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็งกำไรในระยะสั้น หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์จะตอบโจทย์มากที่สุด เพราะมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อ งตามกระแสเมกะเทรนด์ของโลก ประกอบกับราคา (Value) ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ และมีระดับราคาที่ยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500
ส่วน หุ้นไทย แนะนำให้เน้นลงทุนใน"หุ้นปันผล" (high dividend stocks) เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเปราะบาง และมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกให้ชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้นปันผลสูง ค่อนข้างจะมีฐานะทางการเงินที่แข้งแกร่ง มีรายได้ที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ และมีกำไรเพียงพอต่อการจ่ายเงินปันผล การลงทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบาง ควรเน้นลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทนต่องภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่า
ทางด้านผู้จัดการกองทุน บลจ. เอ็มเอฟซี แนะนำลงทุนใน “หุ้น Value stocks ” ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับการกดราคาตลอดปี2562 จากภาพเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง มีโอกาสกลับมาอยู่บนความสนใจของตลาดในปี2563 หลังความเสี่ยงต่อทิศทางเศรษฐกิจดูผ่อนคลายลง ดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มีโอกาสหนุนให้ความสนใจในตลาดหุ้นยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
หุ้นกลุ่มนี้มีหลายตัวที่มี PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก แม้แนวโน้มการเติบโตของกำไรในปี 2563 อาจไม่มาก แต่ด้วยราคาที่ถูกทำให้น่าสนใจ โดยเฉพาะตัวที่มีความเสี่ยงต่อประมาณการต่ำหรือมีโอกาส (และปัจจัยพื้นฐานที่บ่งชี้ได้ค่อนข้างชัดเจน) ที่จะปรับประมาณการขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปีที่ “หุ้น Small cap ”กลับมามีราคาปรับตัวขึ้นได้( Outperform )ได้เป็นครั้งแรกในรอบ4ปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผ่านพ้นช่วง4เดือนแรกไปแล้ว)
ด้าน “ธิดาศิริ ศรีสมิต” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ. กสิกรไทย บอกว่า มุมมองของนักลงทุนในตลาด ค่อนข้างลดน้ำหนักการลงทุน( underweight) ในหุ้นและตลาดเกิดใหม่ แต่หากว่าสงครามการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น "ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่" ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น น่าจะมีโอกาสกลับมามีผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
บริษัทยังมีมุมมองที่เป็นบวกในปีหน้า เนื่องจากคาดว่า ตลาดค่อนข้างจะรับรู้ปัจจัยในด้านลบไปค่อนข้างมากแล้ว ในขณะที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในระยะยาว ยังมีความน่าสนใจมากกว่าสินทรัพย์อื่น รวมถึงสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ระดับ P/E ของตลาดสามารถอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้