'เจโทร' สะพานเชื่อม 'โซไซตี้ 5.0 - ไทยแลนด์ 4.0'
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่นและไทยต่างมุ่งผลักดัน หวังเชื่อมโยงนโยบาย “โซไซตี้ 5.0” กับ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้ชัดเจน
อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร ประจำกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า เจโทรได้ร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น ยกระดับอุตสาหกรรมของไทยอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ขั้นสูง รวมถึงสาธิตกระบวนการและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
อัทสึชิ ยกตัวอย่างกิจกรรมสำคัญๆในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ความมุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนผลักดันการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต ล่าสุด เจโทรได้จัดให้มีการนำเสนอสตาร์ทอัพ กับลูกค้าหรือนักลงทุนที่สนใจ (Pitching event) ของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นและจัดการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทไทยภายในงาน CEBIT ASEAN Thailand ในเดือน พ.ย.2562 โดยเจโทรหวังว่า จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจภายหลังจากการจัดงาน เพราะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
2.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจ ระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทไทยในอุตสาหกรรมการแพทย์ เพราะเจโทรเห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
เจโทรได้ให้การสนับสนุนการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากจังหวัดฟุคุชิมะกับผู้ประกอบการไทยภายในงาน Medical Fair Thailand จัดขึ้นในเดือน ก.ย.62 และยังให้การสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทสตาร์ทอัพของญี่ปุ่น ซึ่งทำธุรกิจชุดตรวจทางการแพทย์ และธุรกิจการวิเคราะห์จีโนมกับบริษัทไทยในช่วงงาน CEBIT ASEAN Thailand ที่กล่าวถึงข้างต้น
และ3.การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เจโทรร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นในการสนับสนุนช่วยวางหลักสูตรเพื่อการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ไอทีซี) โดยมุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
"การยกระดับอุตสาหกรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตัล โดยเจโทรมุ่งมั่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย ผ่านการให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลัง ในฐานะที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต" อัทสึชิ ย้ำ
อีกทั้งทางหอการค้าญี่ปุ่นก็ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของบริษัทญี่ปุ่นไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนว่าบริษัทญี่ปุ่นยังคงมีความคาดหวังสูงต่อนโยบายของรัฐบาลไทยในปี 2563
“หากพูดถึงความเชื่อมั่นรัฐบาลไทย ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จะสะท้อนในรายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจประจำครึ่งปีแรกปี 2562 ซึ่งหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดทำขึ้น พบว่า ในการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการลงทุน ซึ่งประเมินจากนโยบายของรัฐบาล พบว่า บริษัทญี่ปุ่นพึงพอใจกับนโยบายการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภคมากที่สุด” ประธานเจโทร ระบุ
ส่วนค่าเงินบาทแข็งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนไม่ ประธานเจโทร ชี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นต่างกำหนดไว้เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจ ณ เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเจโทรได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการจัดการหรือแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกัน เจโทรได้ผลักดันบริษัทญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนร่วมกับไทย ในโครงการไทยแลนด์พลัสวัน ซึ่งปัจจบันเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น เช่น การขยายสาขาโรงงานทั้งในลาวและกัมพูชา โดยมีโรงงานแม่อยู่ในประเทศไทย
สำหรับทั้งผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นแล้ว การเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV จัดว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพีในประเทศเหล่านี้โดยมองว่า ต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยผ่านมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านพิธีการศุลกากรที่ด่านพรมแดนและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน
อัทสึชิยกตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ หรือเอสอีซี ที่กำลังมีการก่อสร้างถนนสำหรับใช้ขนส่งสินค้าข้ามแดน อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าในการเจรจาหารือเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรแบบไร้กระดาษ ถือเป็นตัวอย่างศุลกากรที่ด่านพรมแดนภายในอาเซียน
ประธานเจโทรได้อ้างตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า ยอดคงค้างของเงินลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มความร่วมมือ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในเดือนมิถุนายน 2562 จะแตะระดับ 18,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่าตัวจากยอดคงค้างเพียงไม่ถึง 4,700 ล้านดอลลาร์ ในปี 2555
ขณะที่ มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดมูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. 2562 อยู่ในอันดับสูงที่สุด เมื่อเทียบการลงทุนของต่างชาติในไทย นั่นหมายถึงญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศคู่ค้าที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับที่ 6 รองจากจีน สหรัฐ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านั้นมายังญี่ปุ่น ได้ปรับตัวลดลงในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. - ต.ค.ของปีที่แล้ว แต่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยมายังญี่ปุ่นกลับปรับเพิ่มขึ้น 3.1% หรือประมาณ 21,300 ล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างโดดเด่น
ประธานเจโทร ย้ำในตอนท้ายว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นหุ้นส่วนหลักที่มีความสำคัญของญี่ปุ่นแบบไร้ข้อกังขา สู่ความร่วมมือทางการค้าที่เข้มข้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้นในปี 2563