โอกาส 'ส่งออกไทย' ช่วง 'การเมืองฮ่องกง' ระส่ำ
ฮ่องกงเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผลพวงจากสถานการณ์ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อมากกว่า 6 เดือน แถมซ้ำร้ายด้วยสงครามการค้าจีนกับสหรัฐ ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของฮ่องกงร่วงถึง 3%
เอ็ดเวิร์ด หยู รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง กล่าวว่า ปัญหาการเมืองภายในที่รุมเร้าได้สร้างความเสียหายต่อสภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ลดลง 40% ซึ่งการท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมเสาหลักของฮ่องกง และยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับธุรกิจท้องถิ่น ตั้งแต่ธุรกิจโรงแรมรายได้ลด 34% และค้าปลีก 19.5% รวมไปถึงก่อให้เกิดปัญหาว่างงานสูงขึ้นตามลำดับด้วย
หยู เล่าว่า เมื่อสองสัปดาห์ก่อน แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้เดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ที่กรุงปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีจีนได้กำชับให้รัฐบาลฮ่องกงเร่งจัดการกับปัญหาความไม่สงบ และหาทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชุมนุมประท้วง โดยมองว่า “แม้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลฮ่องกงยากจะแก้ไข แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายเห็นผลประโยชน์ส่วนร่วมไว้ก่อน”
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพาณิชย์ฯ ได้อ้างตัวเลขผลสำรวจทางเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล พบว่าขณะนี้พลเมืองฮ่องกงที่มีฐานะยากจนมีมากถึง 1,400,000 คน หรือทุก 1 ใน 5 คน ซึ่งสถิตินี้เป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบทศวรรษ ขณะที่ Demographia’s International Housing Affordability Survey ได้จัดให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีตลาดอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงที่สุด 9 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2553-2560 นั่นหมายความว่าสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจะเป็นปัจจัยให้พลเมืองฮ่องกงต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 5 ปี เพื่อได้บ้านเช่าจากรัฐบาลในราคาถูก
"เศรษฐกิจของฮ่องกงจะยังไม่สามารถดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะปัญหาทางสังคมที่หยั่งรากลึก และที่สำคัญคือปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อความแข็งแกร่งของฮ่องกงในอนาคต" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพาณิชย์ฯ กล่าว
หยู เชื่อว่า ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมฮ่องกงที่ยืดเยื้อออกไป แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ดูเลวร้ายเสียทั้งหมด พร้อมชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อฮ่องกง ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงเห็นว่า “ไทยเป็นอีกหนึ่งทางออกของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดี” โดยเฉพาะขณะนี้ไทยได้เปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่าฮ่องกงสามารถเข้าไปบริหารจัดการการลงทุนในส่วนนี้ได้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนฮ่องกงส่วนใหญ่มองว่าไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งฮ่องกงมีความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ขณะเดียวกัน ไทยเป็นผู้ค้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ในฮ่องกง และล่าสุดพบว่าไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังฮ่องกงสูงถึง 2.06 แสนตัน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี นี่เป็นการค้าการลงทุนแบบทวิภาคีที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ระหว่างกัน
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังพร้อมจับมือไทยเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือระหว่างฮ่องกง ไซเบอร์พอร์ต และอินโนสเปซ ไทยแลนด์ ในการผลิตสตาร์ทอัพ และพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านกองทุนเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ มุ่งสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา และการออกแบบดีไซน์
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงและไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 และได้เริ่มหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ฮ่องกง เพราะฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางด้านการกระจายการส่งออกสินค้าและด้านบริการ พร้อมทั้งปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ไว้ร่วมกัน