น้ำโขงวิกฤติหนัก กรมเจ้าท่าเร่งสำรวจ เปิดทางน้ำ
น้ำโขงวิกฤติหนัก ลดต่ำเหลือแค่ 1 เมตร กรมเจ้าท่าเร่งสำรวจ เปิดทางน้ำ ห่วงกระทบพื้นที่การเกษตรริมโขง ระบบประปา เดินเรือข้ามฟาก
วันที่ 3 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากภัยแล้ง ยังคงส่งทำให้ระดับแม่น้ำโขงวิกฤตต่อเนื่อง ซึ่งมีระดับน้ำต่ำประมาณแค่ 1 เมตร ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหนักสุดในรอบ 50 ปี
เนื่องจากช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมาระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวน เพราะระดับน้ำเปลี่ยนแปลงบ่อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง บวกกับการกักน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าของเขื่อนในประเทศจีน ทำให้น้ำโขงในพื้นที่จังหวัดนครพนม หลายจุดระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง จนเกิดสันดอนทรายโผล่ กลางแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่กว้าง จึงมีผลกระทบต่อการเดินเรือข้ามฟาก และเรือหาปลาตามแม่น้ำโขง ที่ต้องใช้ระยะทางเดินเรืออ้อมหาดสันดอนทราย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อ เกษตรกร ที่ทำการเกษตรปลูกผักส่งขาย จากปัญหาต้องวางท่อสูบน้ำไกลขึ้น เพราะมีสันดอนทรายขวางทางน้ำ รวมไปถึงจุดสูบน้ำตามสถานีส่งน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงจุดสูบน้ำดิบเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตประปา ต้องมีการวางแผนรับมือในระยะยาว เนื่องจากฤดูแล้งยังยาวอีกหลายเดือน ล่าสุด นายทวีชัย โชคสมุทร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหนองคาย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 พร้อมด้วย นายวินัย ช่างชำนาญหล่อ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขานครพนม นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ กรณีน้ำโขงแห้งขอด เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนรับมือ โดยได้ออกสำรวจร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปดำเนินการ ขุดลอกสันดอนทราย เพื่อเปิดทางน้ำ ชักร่องน้ำ ใช้ในการเกษตร รวมถึงผลิตระบบประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร หากอนาคตระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว
โดยนายทวีชัย โชคสมุทร เผยว่า ยอมรับว่าปีนี้ภัยแล้งส่งผลกระทบหนัก เนื่องจากน้ำโขงลดลงต่อเนื่อง รวดเร็วกว่าทุกปี มีระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ทำให้หลายจังหวัดติดกับน้ำโขง ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด เพราะน้ำโขงเกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้าง สิ่งที่ตามมาคือเส้นทางเดินเรือ จุดสูบน้ำเพื่อการเกษตร จุดสูบน้ำผลิตประปา เริ่มได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการเดินเรือข้ามฟาก ทั้งนี้ ทางกรมเจ้าท่า ได้มีการหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่คาดว่าหนักสุดในหลายทศวรรษ เบื้องต้นได้มีการสำรวจ และอนุญาตให้พื้นที่ได้รับผลกระทบ สามารถขุดสันดอนทรายกลางน้ำโขง เพื่อชักร่องน้ำโขงที่ถูกสันดอนทรายขวางทางน้ำ เข้ามาใช้ในการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีหลายจุดเริ่มได้รับผลกระทบจากสันดอนทราย ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ต้องเพิ่มระยะทางในการสูบน้ำมากขึ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ วางแผนรับมือต่อเนื่อง