ค่าครองชีพ 2563 คนไทยยังไหวไหม?

ค่าครองชีพ 2563 คนไทยยังไหวไหม?

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ควรเดินต่อไปบนเส้นทางเก่า หรือคิดทบทวนว่า ที่ผ่านมา “เมืองให้อะไรเราบ้าง หรือที่สุดแล้ว เมืองต่างหากที่เป็นฝ่ายเอาทุกอย่างไปจากเรา

บทสนทนากลางมหานครนิวยอร์ค! พนักงานขับรถคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงการใช้ชีวิตในเมืองนี้ ซึ่งก่อนอื่นขอเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วย ด้วยบทสรุป ที่ว่า”พนักงานขับรถที่นิวยอร์ค”แห่งนี้ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าแสนบาท

อย่าเพิ่งดีใจ รีบเก็บกระเป๋าไปเสี่ยงโชคไกลถึงนิวยอร์ค เพราะเนื้อหาจากบทสนทนาต่อจากนี้อาจทำให้”คนเมือง”ทั้งหลายต้องคิดทบทวนแผนการใช้ชีวิตใหม่

ว่าด้วยเรื่อง”ค่าครองชีพ”เทียบกับรายได้เพื่อหาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็น” กำไรชีวิต?”

พนักงานขับรถคนนี้ เล่าว่า มีที่พักย่านบรู๊คลิน ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากแมนฮัตตัน หรือหัวใจนิวยอร์ค มีค่าเช่าเดือนละประมาณ สี่หมื่นบาท แล้วเล่าต่อว่า ราคานี้ไม่รวมค่าพลังงาน หรือเรียกอย่างบ้านเราก็ค่าน้ำค่าไฟ แต่ทางเมืองนอกนี่คงจริงจังกับคำคำนี้มากกว่าเพราะพลังเพื่อป้องกันความหนาวเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนพลังงานเพื่อลดความร้อนอย่างที่เมืองไทยอาจเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ยังมีค่ากิน เฉลี่ยมื้อละเกือบ 200  บาท ตามมาติดๆด้วยค่าเดินทาง อย่างรถไฟใต้ดิน ตลอดสาย 2  ดอลลาร์ หรือประมาณ 60 บาท หากคำนวนแล้วคร่าวๆ ต้องหาเงินไม่ต่ำกว่าแสนบาทเพื่อดำรงชีวิตในเมืองใหญ่  

157807954327

เรื่องเหล่านี้สามารถสะท้อนผ่านข้อมูลทางเศรษฐกิจ ว่าด้วยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนธ.ค. จัดทำโดยสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

เผยถึงผลสำรวจจากลุ่มตัวอย่างประมาณ 7,000-10,000 คน ทั่วประเทศ ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมในเดือนธ.ค. เท่ากับ 44.5 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ค่าดัชนีชี้ว่า เดือนนี้เท่ากับ 39.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 39.0 ส่วนความเชื่อมั่นในอนาคต ค่าดัชนีชี้ว่า เดือนนี้เท่ากับ 48.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ 48.2

มีคำอธิบายระบุว่า สาเหตุที่ค่าดัชนีไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงปลายปี และการลงทุนต่างๆของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ

นทางกลับกัน ปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแข็งค่าของเงินบาท เสถียรภาพทางการเมือง การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าสหรัฐและจีน

แยกย่อยออกมาให้เห็นเป็นรายภูมิภาค ก็จะพบว่า ภาคเหนือ อีสาน และใต้ มีค่าดัชนีที่สูงขึ้น ส่วนภาคกลางค่าดัชนีทรงตัว แต่เฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ที่ค่าดัชนีปรับลดลง

ส่วนอาชีพใดมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาผลสำรวจชี้ว่า พนักงานเอกชนมีความเชื่อมั่นลดลง  จาก43.2 มาอยู่ที่ 42.6   เช่นเดียวกับนักศึกษาที่ ลดลงจาก 43.1 มาอยู่ที่ 42.2 ในเรื่องนี้มีคำอธิบายว่า น่าจะมาจากระแสข่าวเรื่องการปิดกิจการและการเลิกจ้างงานที่มีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอาชีพเกษตรกร  ผู้ประกอบการ รับจ้างอิสระ และคนไม่ได้ทำงาน  ค่าดัชนีชี้ว่ามีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น

จากข้อมูลทางเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่สดใสนัก ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป ยังไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจว่าจะหล่อเลี้ยงชีวิตให้ ”อยู่ได้สบายด้วย” ได้ โดยเฉพาะชีวิตในเมืองใหญ่

157807956028

ข้อมูลเศรษฐกิจอีกชิ้นที่สามารถเป็นตัวช่วยได้ก็คือ “ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป” หรือเงินเฟ้อ  สามารถอธิบายง่ายๆคือ ค่าของเงินในกระเป๋าจะลดลงไปตามค่าดัชนีที่ผันแปร แต่การที่เงินเฟ้อไม่สูง ไม่ได้หมายความว่า ค่าเงินในกระเป๋าไม่ขยับแล้วเป็นเรื่องดี เพราะอีกด้านหนึ่งกำลังสะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจประเทศกำลังตกอยู่ในสภาพนิ่งๆ อึมครึม และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

เงินเฟ้อมาจากการสำรวจราคาสินค้าที่ประชาชนทั่วไปการใช้จ่ายประจำ สามารถสะท้อนได้ว่า ราคาสินค้าหมวดหมู่ใดบ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลง โดยเดือนธ.ค. เงินเฟ้อทั่วไปเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น0.87%   จากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  1.73% จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง  8.75 % โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่มีปริมาณผลผลิตน้อยลง ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 2.21% จากความต้องการที่มีมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์ในสุกร ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้น 2.29% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้น1.86% จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อต.ค.ที่ผ่านมา

 อาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้น 0.68% และนอกบ้าน สูงขึ้น 0.26% รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้น 2.85% ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลง 1.90% ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก และฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง

เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลง0.02 % หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.38% ตามการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) สูงขึ้น0.61% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้น 0.25% หมวดเคหสถาน

(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้น 0.27% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน) สูงขึ้น 0.73 %รวมทั้งหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น0.36% จาก

ค่าโดยสารสาธารณะ ที่ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวลดลง0.59% การสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลง0.05% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลง0.12%

กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จะยังคงได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากราคาพลังงาน (ฐานราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ค่อนข้างสูง) และจะค่อย ๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต สำหรับราคาสินค้าและบริการ

ในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและความผันผวนของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศและทำให้

เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2563 จะเคลื่อนไหวที่0.4 – 1.2%  ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

157807957567

การรู้ข้อมูลเศรษฐกิจและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ “ค่าครองชีพ” ไม่สูงจนรายได้เอื้อมไม่ถึงจนต้องพึงเงินด่วนตามเสาไฟฟ้า  และกลายเป็นภาระหนี้ครัวเรือนในอนาคต คนเมืองได้เปรียบที่มีรายได้ดี แต่อีกด้านถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็อาจดำเนินชีวิตแบบขาดทุน ติดลบไปทุกวัน จึงเป็นคำถามตัวโตๆว่า เรื่องค่าครองชีพปี 2563 นี้ คนไทยยังไหวไหม?