เตรียมนำเข้า ครม. จ่อตั้งศูนย์เฉพาะกิจ รับมือภัยแล้ง
รัฐบาลเตรียมตั้งศูนย์เฉพาะกิจ รับมือวิกฤติน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนของ ปชช. โดยมีนายกฯประยุทธ์นั่งเป็นผู้บัญชาการอำนวยการ เตรียมนำเรื่องเข้า ครม. 7 ม.ค.นี้
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบรายละเอียดโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้บัญชาการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ทำหน้าที่ประสานงานการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 24 เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะพ้นไป
ซึ่งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ จะแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่มอำนวยการ กลุ่มคาดการณ์ กลุ่มบริหารจัดการ และกลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงาน
นายกฯ กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างเป็นระบบ เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังส่งผลถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขวิกฤติภัยแล้งปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารวมถึงการวางแผนการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมาย “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
โดยในวันที่ 7 มกราคมนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ รวมทั้งเห็นชอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานดังกล่าวตามความจำเป็นต่อไป
- จับตา14 เขื่อนใหญ่ น้ำน้อยกว่า 30 %
ทั้งนี้ สทนช.ชี้เขื่อนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ รวม105 แห่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย วอนทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้ามาตรการลดผลกระทบประชาชน พร้อมย้ำ 3 หน่วยหลักคุมแผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา – โขง ชี มูล หวั่นปริมาณน้ำลากยาวไม่ถึงสิ้นแล้ง
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44
โดยล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล (อ่านเพิ่มเติมที่ : แล้งวิกฤติ! 14 เขื่อนใหญ่ น้ำใช้การน้อยกว่า 30%)