นักอนุรักษ์โวยทัพฟ้า ดอยอินทนนท์ไม่ต้องการสิ่งนี้!
นักอนุรักษ์ออกโรงต้านโครงการทำถนน ที่เชื่อว่าจัดทำโดยกองทัพอากาศ ตัดผ่าลำน้ำในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit เกี่ยวกับความกังขาถึงโครงการตัดถนน ซึ่งเชื่อว่า จัดทำโดยทหารอากาศ ตัดผ่าลำน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
มีใจความว่า..
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
ดอยอินทนนท์ไม่ต้องการสิ่งนี้
————
ภาพเหล่านี้ คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น บนดอยอินทนนท์
อุทยานแห่งชาติที่เรารักและหวงแหน
ขณะนี้มีการสร้างถนนคอนกรีตที่ ทำเป็นฝายน้ำล้น ผ่ากลางลำธาร ต้นน้ำแม่กลาง หลังหน่วยต้นน้ำฯ เพื่อไปยังแปลงปลูกดอกไม้
เท่าที่ผมทราบมา เป็นโครงการของทางทหารอากาศ
ซึ่งยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับความมั่นคงยังไง และมั่นคงของใคร
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
ระหว่างก่อสร้าง ย่อมมีทั้งดินตะกอน สิ่งแปลกปลอมมากมายทับถมลงในน้ำ
หลังก่อสร้าง เกิดการเปลี่ยนระบบนิเวศน้ำไหลแรงเป็นน้ำไหลเอื่อย น้ำนิ่ง ที่มีออกซิเจนต่ำ ตะกอนทับถมในร่องหลืบซอกหิน ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำหลากหลายชนิดขาดแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
ผมและหลายๆคน มีความทรงจำที่พิเศษกับลำธารงดงามสายนี้
หากใครเคยมานั่งพักผ่อนบนก้อนหินกลางน้ำ หย่อนเท้าจุ่มน้ำ ให้น้ำไหลนวดเท้า นั่งมองแสงที่ส่องลอดใบไม้ สะท้อนผิวน้ำระยิบระยับ ฟังเสียงน้ำไหลกระรุกกระริก เฝ้าดูนกกางเขนน้ำหลังเทากระโดดจากก้อนหินก้อนโน้นไปก้อนนี่ จับจิ้งโจ้น้ำกิน น้ำก็ใสเสียจนเห็นปลาตัวเล็กๆหลากหลายชนิดที่ว่ายมาตอดเท้าให้พอจั๊กกะจี้
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
คนที่เคยมีประสบการณ์เหล่านี้ ย่อมรู้ค่า ของลำธารใสกลางป่าเขาแห่งนี้ดี
และรู้สึกเจ็บปวด เมื่อเห็นการกระทำอันหยาบคายต่อธรรมชาติแบบนี้
หลายๆปีที่ผ่านมา กิจกรรมมนุษย์จากหลากหน่วยงาน รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกินเลยความสามารถของการรองรับของพื้นที่
ถาถม สร้างความพังพินาศ ความเสื่อมของระบบนิเวศอันวิเศษของดอยอินทนนท์ มาโดยตลอด
โดยเราได้แต่มองตาปริบๆ
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
ผมใคร่ขอใช้สิทธิ์ของประชาชนคนหนึ่ง
เรียกร้องให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้ ให้ความคิดเห็น มีส่วนร่วมใน การตัดสินใจ ก่อนมีโครงการ หรือการก่อสร้างถาวรใดๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ ของอุทยานแห่งชาติ
ผมพอเข้าใจและเห็นใจ ทางอุทยานฯ ถึงความยากในการบริหารจัดการพื้นที่นี้ดี เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ต่าง กรม ต่างกระทรวง ต่างพันธกิจ ที่หลากหลายและขัดแย้งกัน
อย่างไรก็ดี
อุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่ของใคร คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงาน ใดหน่วยงานหนึ่ง
แต่เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน ทุกคนควรมีสิทธิ์มีเสียง
และบางที เราอาจต้องออกเสียงแทนสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาศัยสถานที่แห่งนี้เป็นบ้าน เพราะพวกเขาไม่อาจเรียกร้องใดๆ
อย่าให้ดอยอินทนนท์ต้องบอบช้ำไปกว่านี้เลยครับ
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit
เสริมอีกหนึ่งความเห็นโดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความบนเพจ Freshwater Fishes of Thailand by Nonn Panitvong มีใจความว่า..
บางทีก็ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาแล้วอะไรจะดีขึ้นไหม คนไม่สนใจ เค้าก็คงไม่สนใจอยู่ดีกระมัง? ดูจากสภาพการทำลายลำธารบนดอยอินทนนท์ ทั้งๆที่มีทางเลือกอย่างสร้างสะพานข้ามไปก็ได้ สร้างฝายใหญ่โต ทำลายลำธาร ทำลายตลิ่งทำไม? หยาบคายต่อระบบนิเวศเหลือเกิน
"ต่อเนื่องจากภาพการทำลายลำธารบนดอยอินทนนท์ เลยถือโอกาสนำเสนอ ปลาสองชนิดที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มน้ำแห่งนี้ครับ
ชนิดแรกคือปลาค้อลายดวง Schistura spilota เป็นปลาค้อที่มีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนเท่านั้น
ส่วนอีกชนิดคือ ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนน์ Oreoglanis siamensis ชนิดนี้เป็นชนิดเฉพาะุถิ่นของดอยอินทนนท์ เป็นสัตว์คุ้มครองด้วย ปัจจุบันสำรวจพบในลำธารแค่สองสายบนดอยอินทนน์เท่านั้น
ปลาทั้งสองชนิดเป็นปลาที่พบอาศัยอยู่ในลำธารที่สมบูรณ์เท่านั้น การสร้างฝาย ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและรุนแรงต่อถิ่นอาศัยของปลาชนิดนี้ มีรายงานเป็นรูปธรรม คุยกับกรมอุทยานหลายรอบแล้ว ฝายก็ยังมีอยู่บนดอย แล้วนี่ก็มีการอนุญาตให้สร้างใหม่อีก ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นอีก หยาบคายกับธรรมชาติเหลือเกิน
ลำธารตรงนี้ถ้าใครเคยไปเห็นสวยมากนะครับ สงบร่มรื่น แล้วนี่ทำอะไรลงไป?
คือมันไม่ใช่ไม่มีทางเลือก อยากจะเอารถข้ามไปให้ได้ ทำสะพานก็ยังดีกว่าทำฝายแบบนี้ จะทำลายลำธารทำไม?"
ทั้งนี้ ดร.นณณ์ ได้โพสต์ภาพปลาหายากซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่ลุ่มน้ำนี้ไว้ด้วย
Schistura spilota ปลาค้อลายดวง ปลาเฉพาะถิ่นของต้นแม่น้ำปิง (ขอบคุณภาพจาก reshwater Fishes of Thailand by Nonn Panitvong)
Oreoglanis siamensis ปลาเฉพาะถิ่นของดอยอินทนนท์ พบอาศัยอยู่ในลำธารเพียงสองสายเท่านั้นในโลก เป็นสัตว์คุ้มครองด้วย (ขอบคุณภาพจาก reshwater Fishes of Thailand by Nonn Panitvong)