'เอทีเอ็มสีขาว' ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสเข้าถึง 'บริการการเงิน'
สมาคมธนาคารไทย เดินหน้าผลักดันให้ธนาคารต่างๆ หันมาใช้ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ร่วมกัน ผ่าน “โครงการตู้เอทีเอ็มสีขาว” หรือ “White Label ATM” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการติดตั้งตู้เอทีเอ็ม
ค่าใช้จ่ายการบริหารเงินสดให้กับภาคธุรกิจธนาคาร และลดค่าธรรมเนียมของผู้ใช้บริการ
“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” หรือTMB Analytics เปิดเผยข้อมูลการใช้บริการ ATM ว่า ยังมีคนไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้ทั่วถึง แม้ไทยจะมีเครื่อง ATM จำนวนมาก ติดอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากมีการกระจุกตัวของ ATM กว่า 70% ในขณะที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนอยู่ห่างไกลจาก ATM จึงสนับสนุนโครงการ ATM สีขาว ที่จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของธนาคาร ส่งผลต่อเนื่องไปยังการลดค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายสูงถึงปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งช่วยกระจายการเข้าถึงบริการการเงินไปสู่พื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน
จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าประเทศไทยมีATM สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก โดยมี115 เครื่องต่อประชากรผู้ใหญ่ 1 แสนคน ใกล้เคียงอังกฤษ เยอรมัน และมากกว่าประเทศสิงคโปร์ 2 เท่า มากกว่ามาเลเซียและเนเธอร์แลนด์ถึง 3 เท่า แต่ทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แค่บางพื้นที่ของประเทศ เกิดการวางทับซ้อน มีภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงและนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการเงิน
ทั้งนี้ จากจำนวน ATM 53,808 เครื่อง พบว่า 68% หรือ 28,672 เครื่องตั้งอยู่ในต่างจังหวัด และอยู่ในกรุงเทพ 1.3 หมื่นเครื่อง ในภาพรวมมีปริมาณการใช้ ATM ทำธุรกรรมมากกว่า 2.2 พันล้านครั้งต่อปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นใช้เพื่อถอนเงินและโอนเงินข้ามเขต หรือต่างธนาคารที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็นเงินสูงถึง 2 .2 หมื่นล้านบาทต่อปี
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่ 70% ของเครื่อง ATM กระจุกตัววางทับซ้อนกันมากกว่า 3 เครื่องในรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร สำหรับในเขตกรุงเทพพบว่าจุดที่มี ATM ทับซ้อนมากที่สุด คือ ย่านสยามแสควร์ มี ATM ถึง 150 เครื่อง เรียกได้ว่าแทบเดินชนตู้ ATM แต่พอลองสำรวจในพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่ามี 18,000 ชุมชน ที่มีประชากร 10 ล้านคน อยู่ห่างจากจุด ATM เกิน 5 กิโลเมตร เช่น ตำบลแม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีประชากร 17,000 คน ที่ระยะทางจาก ATM ที่ใกล้ที่สุดคือห่างไปจากที่อยู่อาศัยถึง 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง"
ดังนั้น โครงการใช้เครื่อง ATM ร่วมกันในระบบธนาคาร สามารถตอบโจทย์การกระจายการเข้าถึงบริการการเงินและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้ โดยTMB Analytics มองว่าโมเดลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ประการแรก คือสามารถลดค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายถึง2.2หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะธนาคารมีต้นทุนการบริหารจัดการ ATM ลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.85 หมื่นล้านบาท (ประกอบด้วยค่าเช่า 8.5 พันล้านบาท และค่าบริหารจัดการเงินสด 2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งธนาคารจะส่งผ่านผลประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนไปยังผู้ใช้บริการได้
ประการที่สอง คือ สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินของคนไทยได้ดีขึ้น โดยสามารถนำเครื่อง ATM ที่วางทับซ้อนไปไว้ในชุมชนที่ยังขาดแคลน ช่วยให้ ATM เข้าถึงทุกพื้นที่ได้มากขึ้น จากปัจจุบัน ระยะทางเฉลี่ยจากชุมชนถึงATM ที่ใกล้ที่สุดคืออยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร
จากการศึกษาพบว่าถ้ามีโครงการATM สีขาว จะสามารถจัดสรรทรัพยกรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดวาง ATM ในจุดที่ขาดแคลนซึ่งจะช่วยย่นระยะทางเฉลี่ยจากชุมชนถึง ATM เหลือเพียง 300 เมตร เพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินของคนไทยได้ถึง 10 เท่า และลดจำนวนชุมชนที่มีระยะห่างจาก ATM เกิน 0.5 กิโลเมตร อยู่ที่ 7,000 ชุมชน