'เฉลิมชัย' ดึงจีนตั้งโรงงานเคมีภัณฑ์ในไทย
“เฉลิมชัย” อวดผลงานโรดโชว์จีนดึงชิโนเคมอินเตอร์ลงทุนโรงงานเคมีภัณฑ์ที่ระยอง ปักหมุดปี 63 พร้อมเซนต์เอ็มโอยูเพิ่มปริมาณจีนซื้อน้ำยางจากไทยอีก 3 พันล้าน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้รับทราบรายงานการเดินทางไปปฏิบัติราชการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีความสำเร็จที่สำคัญคือการหารือซื้อกับบริษัทชิโนเคม อินเตอเนชันแนล ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยได้มีการหารือกันถึงความร่วมมือทางธุรกิจที่บริษัทดังกล่าวจะมีกับประเทศไทย ซึ่งนอกจากต้องการที่จะนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยแล้วผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนี้ยังสนใจที่จะลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ณ จังหวัดระยอง โดยได้เตรียมการลงทุนไว้ในปี 2563
นอกจากนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)กับบริษัทน้ำยางข้นของประเทศจีน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท GAOMI ZHENGFENG Trading 2.บริษัท NINGBO Changkenและ 3.บริษัท SANGDONG Xingyu เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562ซึ่ง รมว.เกษตรได้มีการเน้นย้ำกับภาคเอกชนของจีนว่าน้ำยางพาราของไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลกเหมาะสมที่จะนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ และยืนยันว่าจีนถือว่าเป็นลูกค้าที่สำคัญของไทยที่ไทยต้องการรักษาฐานการส่งออก และเพิ่มปริมาณการส่งออกในอนาคต ทั้งนี้ทั้ง 3 บริษัทตกลงจะนำเข้าน้ำยางข้นจากประเทศไทยกว่า 6 หมื่นตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปเยี่ยมชมตลาดรูปแบบค้าร้านค้าปลีกแนวใหม่ หรือ “เหอหม่า”(HEMA) ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นตลาดการค้าที่ใช้รูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการประสานการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งในการขายสินค้าออนไลน์ตลาดแห่งนี้ได้เชื่อมโยงการค้ากับเว็บไซด์ T-mall หรือผ่านแพลตฟร์มของอาลีบาบา ไปยังผู้บริโภคชาวจีนในรัศมี 3 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการส่งสินค้าเกษตรที่สามารถรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ถึงมือผู้บริโภค
โดยจุดเด่นของ HEMA คือสินค้าแต่ละชิ้นจะมีคิวอาร์โค้ด เพื่อระบุรายละเอียดของสินค้า มีการนำระบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบมาใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นเถาเป่า หรืออาลีเพย์ได้ทันที รวมทั้งมีการพัฒนาระบบจ่ายเงินแบบสแกนใบหน้า และมีการใช้ระบบโชจิสติกส์ที่รวดเร็วเพื่อส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ในตลาดแห่งนี้ได้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยโดยเฉพาะผลไม้ที่ได้รับความนิยมได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ลำไย โดยปัจจุบันไทยมีการส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน 22 ชนิด เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2561 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้จำข้อมูลที่ได้มาจากการหารือกับผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนของจีนมาเพื่อวางแผนการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้รมว.เกษตรของไทยได้มีการหารือกับนายจาง จี้เหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานการศุลากากรของจีนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมายังประเทศจีนได้สะดวกมากขึ้น