ดัน Non-Degree ตอบโจทย์ประเทศ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมฯ
เมื่อหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ การพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต “สถาบันการศึกษา” ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการด้านบุคลากร ท่ามกลางกระแสดิสรับ ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
ขณะที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีภารกิจ 3 เรื่องสำคัญ คือ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย และสร้างนวัตกรรม ภายใต้บริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แนวโน้มประชากรลดลง การเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาในระบบราว 2-3 ล้านคน ประเด็นสำคัญ อย่างเรื่องมหาวิทยาลัยในอนาคต จึงไม่ใช่การมองที่ Higher Education อีกต่อไป แต่ต้องเป็น Lifelong Education หรือ การศึกษาตลอดชีวิต
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า โลกถูกดิสรับ วัยทำงานในปัจจุบันมีกว่า 38 ล้านคน ซึ่งจะต้องถูกรีสกีล อัพสกีล นี่คือ โอกาสของมหาวิทยาลัยในอนาคต ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้สูงวัย จึงต้องมี Ageing Education ให้เขาเป็น Active Ageing ดังนั้น ภารกิจของกระทรวงในการสร้างคน จึงต้องสร้างในลักษณะ Lifelong Learning คือ สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพอย่างไร พร้อมกันนั้น คนที่อยู่ในวัยแรงงานซึ่งมีโอกาสถูกดิสรับ จะรีสกีล อัพสกีลเขาอย่างไร และคนที่เป็นกลุ่มสูงวัย จะทำให้เขาเป็น Active Ageing ได้อย่างไร
- มหา’ลัย อนาคต ต้องตอบโจทย์งานวิจัย
สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยในอนาคต งบจะมาจากการวิจัย ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์งานวิจัย นำไปสู่ความเชี่ยวชาญ ผลิตองค์ความรู้ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยที่เน้นองค์ความรู้ระดับโลก เช่น จุฬาฯ มหิดลฯ เกษตรฯ มข. มอ. ฯ ถัดมา คือ มหาวิทยาลัยที่เล่นเรื่องอินโนเวชั่น ได้แก่ 3 พระจอมฯ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)) รวมถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อาชีวะ ฯลฯ
และสุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยที่เก่งเรื่องเชิงพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีกว่า 38 แห่งทั่วประเทศ หากแบ่งกันรับผิดชอบแห่งละ 2 จังหวัด ช่วยกันทำโจทย์วิจัยที่ต่างกัน เพื่อยกระดับชุมชน ทั้งเรื่องโอท็อป สมาร์ทฟาร์เมอร์ ท่องเที่ยวชุมชน ในอนาคต ม.ราชภัฎ ต้องเก่งเรื่องพื้นที่ ความยากจน โอกาสของพื้นที่ การสร้างองค์ความรู้ในพื้นที่ รายได้ ข้อจำกัด การเกษตร ต้องรู้หมด ดีมานด์ คือ ตัวคน และซัพพลาย คือ มหาวิทยาลัย จะต้องถูกปรับโครงสร้าง และมาประกบกัน
- ชูราชภัฏ ยกระดับชุมชน
รมว.อว. ระบุว่า อนาคตสิ่งที่น่ากลัว คือ การแบ่งแยกทางสังคมโดยปริยาย ถ้ามัวแต่บอกว่า เป็นกระทรวงวิทย์ฯ ต้อง Deep Tech เอาเทคโนโลยีเป็นหลัก จะมีคนแค่ 5% ที่อยู่รอด และที่เหลือจะตายหมด ดังนั้นจึงมีโครงการยุวชนสร้างชาติ โดยจะใช้งบประมาณ จำนวน 8,600 ล้านบาท แก้ปัญหาเยาวชนในรั้วมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ ให้มีงานทำ ผ่าน 3 โครงการย่อย คือ โครงการบัณฑิตอาสา โครงการอาสาประชารัฐ และ โครงการกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งใช้พลังของนักศึกษาให้เขาไปเรียนรู้กับชุมชน ขณะที่ชุมชนเมื่อมีนักศึกษาเข้าไปเป็นระรอกๆ ก็จะเกิดความยั่งยืน
“เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องชูราชภัฏ เพราะราชภัฏ อยู่ใกล้ชิดชุมชน หากยังอ่อนเรื่องนี้ต้องติดปีกให้อาจารย์ก่อน เพราะเขาดูแลเด็กกว่า 70-80% และเขาดูแลพื้นที่ หากตรงนี้ดี ทุกคนอยู่ได้ จึงจะไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”
“ทั้งนี้ บ้านเราสิ่งที่ขาดคือ Manpower Planning หรือการวางแผนกำลังคน กำลังคนจริงๆ ของประเทศเป็นอย่างไร ทั้งดีมานด์ และ ซัพพลาย ใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตรงนี้สำคัญ เช่น อีอีซี รู้กำลังคนที่ขาด ทักษะที่ขาด แต่พื้นที่นอก อีอีซี จะเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่บอกว่าบัณฑิตที่จบไป เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มีงานทำ มีงานทำอย่างไร ขณะที่มหาวิทยาลัยเองถ้ายังไม่ปรับก็ไม่มีประโยชน์”
- Non-Degree กับโลกอนาคต
ขณะที่หนึ่งในโครงการของกระทรวงฯ ที่จะเห็นในปี 2563 -2564 คือ เรื่องของหลักสูตรในการตอบโจทย์รีสกีล อัพสกีล โดยตั้งเป้าไว้ที่ 2 พันหลักสูตร ทั้งหลักสูตรของภาคเอกชนเอง และเอกชนที่ร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมถึงเล็งพันธมิตรอย่างไมโครซอฟต์ หัวเว่ย บริติช เคานซิล ที่มีหลักสูตรระดับโลก ให้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย เกิดการขยายผลต่อไป
“โลกในอนาคต Non-Degree ซึ่งเน้นปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ต้องเป็นรูปธรรมในปีนี้ เพื่อตอบโจทย์การรีสกีล อัพสกีล โจทย์ของกระทรวงฯ จะยากขึ้น ต้องมองเรื่องงานเป็นหลัก ไม่ใช่ทักษะเป็นหลัก เพราะมีทักษะแต่ไม่มีงานก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ต้องผูกงานกับทักษะเข้าด้วยกัน และต้องมี Job Fair ให้เกิดการ Matching ไม่ใช่แค่เกิด หลักสูตร Non-Degree ออกมา 2 พันหลักสูตรแล้วจบ”
- ดันมหาวิทยาลัยไทยขึ้น Top 100 ใน 5 ปี
รมว.อว. กล่าวเสริมว่า ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องเดินหน้าด้วยนโยบาย และมีงบประมาณวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน ต้องผนึกกำลัง 4 ภาคส่วน คือ มหาวิทยาลัยกับสถาบันวิจัย , เอกชน , พลังชุมชน และพลังของโลก เพราะทุกวันนี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก Top 100 ประเทศไทยหล่นทั้งหมด และมาเบียดกันเองว่าใครเป็นที่ 1 จึงขอให้ขึ้นเป็น Top 100 ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะหากมหาวิทยาลัยไทยตกทั้งระบบ ณ วันนี้ คนไทยที่มีโอกาส 5% แรก เขาไม่ส่งลูกเรียนในเมืองไทยอยู่แล้ว แต่ส่งไปเรียนเมืองนอก
“คนที่อยู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย คือ เทียร์ที่ 2 ถ้ามหาวิทยาลัยเรายังห่วย ต่อไปกลุ่มเทียร์ 2 ก็จะไม่อยู่ด้วย อีกอย่างหนึ่ง คือ หากมหาวิทยาลัยเราขึ้นอันดับไม่ได้ คนเก่งของโลกก็ไม่มาอยู่กับเรา ณ วันนี้สงครามที่สำคัญที่สุด คือ Talent War หรือ สงครามแย่งคน เราต้องการ Brain Power ของต่างชาติมา หากเราขึ้นอันดับไม่ได้ คนเก่งเราก็ไม่อยู่ คนเก่งของโลกก็ไม่มา”
ดังนั้น การพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม หนึ่งคือ ต้องทำให้เด็กเราไม่ใช่แค่เรียน ทุกวันนี้คนมักบอกว่าเด็กไทยเรียนวิทยาศาสตร์ 30% เรียนสังคมศาสตร์ 70% ก็ไม่ผิดเพราะทั่วโลกประมาณนี้ ดังนั้น ผมไม่ได้สนใจตัวเลข ว่าจะต้องเปลี่ยนสัดส่วนวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ แต่ผมสนใจว่า อย่าดูถูกเขา ในเมื่อเขาสามารถทำประโยชน์ได้ เราถูกคัดมาว่า คนเก่งต้องเรียนวิทย์ ถามว่าแล้วยังไง วิธีแก้คือ ให้โอกาส ติดปีกเขา ให้เขาช่วยสังคม
“ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องของการสร้างยูนิคอร์น ต้องเป็นสตาร์ทอัพ มีการลงทุนหลายพันล้านบาท แต่ผมสนใจ Local Startups สนใจสตาร์ทอัพที่ลงไปช่วยชุมชน สนใจ Social Startups เพราะคนพวกนี้ คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ”
ท้ายนี้ รมว.อว. ระบุว่า สำหรับ 182 หลักสูตร ที่ไม่ได้คุณภาพ ถ้าเป็นไปได้เราจะไม่ใช่วิธีการ Pre Audit ไม่เช่นนั้นของดีบางทีถูกกรอง จากเกณฑ์ที่ว่าต้องมีอาจารย์กี่คน กว่าจะถึงตอนนั้นอีก 2 ปี หลักสูตรนี้หมดอายุไปแล้ว ดังนั้น เราจึงใช้วิธี Post Audit เปิดไปเลย เดี๋ยวขอไปเช็คถ้าไม่ดีปิดเลยนะ แต่พวกที่ค้างท่ออยู่อันไหนไม่ดีจัดการอยู่แล้ว
“หลายคนกังวลเรื่องนักศึกษาลดลง ผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะต่อไปต้องเน้นเชิงคุณภาพ ในเมื่อคุณมีโอกาสดูแลนักศึกษามากขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอมากขึ้น คุณก็ต้องทำให้มันดี อย่างที่บอกสังคมไทยเป็นสังคมบ้าปริญญา แต่ศตวรรษหน้าใครบ้าปริญญาก็ตกงานไปเลย เดี๋ยวนี้ปริญญาไม่มีประโยชน์ จึงอยากให้ทำ Non-Degree แต่ไม่ใช่แค่ปัดฝุ่นหลักสูตรปกติ แล้วมาทำหลักสูตรระยะสั้นไม่เอา หากจะทำขออย่างเดียว คือ ให้มีคุณภาพจริง” สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย