'จีน-อินเดีย' ใช้ถ่านหินพุ่งหนุนอุตสาหกรรมโตต่อเนื่อง

'จีน-อินเดีย' ใช้ถ่านหินพุ่งหนุนอุตสาหกรรมโตต่อเนื่อง

“จีน-อินเดีย”ใช้ถ่านหินพุ่งหนุนอุตสาหกรรมโตต่อเนื่อง แม้สองประเทศนี้จะสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ)ระบุว่า ความต้องการบริโภคถ่านหินในภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจีนและอินเดีย เป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคถ่านหินนำหน้าประเทศอื่นๆในภูมิภาค แม้ว่าทั้ง2ประเทศจะสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยอินเดีย ที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินทำให้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ถ่านหินของอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2567

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อินเดียจะมีการบริโภคถ่านหนเพิ่มขึ้น แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่ชี้ชะตาอนาคตของถ่านหินรายใหญ่สุดในโลกหลังจากปี 2567 ในฐานะที่เป็นประเทศบริโภคถ่านหินมากที่สุดในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคถ่านหินทั่วโลก

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อินเดียจะใช้พลังงานจากลมเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงปี 2561 และปี 2567 ส่วนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้น4เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว แต่คาดว่าการบริโภคถ่านหินของอินเดียจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6% ไปจนถึงปี 2567 ถือเป็นอัตราเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ความต้องการถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 5% นำโดยอินโดนีเซีย และเวียดนาม

157896198095

การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะช่วยชดเชยการบริโภคถ่านหินที่ลดลงในสหภาพยุโรป(อียู)ได้อย่างดี

วู้ด แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษาด้านโภคภัณฑ์ คาดการณ์ว่า ถ่านหินยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลัก ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะทะยานสูงสุดในปี 2570 อย่างกรณี อินโดนีเซีย ที่ถึงแม้จะตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 12% เกือบ2เท่า แต่การทำให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแผนการที่จะเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศยังคงต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างถ่านหิน

ข้อมูลด้านพลังงานของไออีเอ ระบุว่า ความต้องการถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกันเมื่อปี 2561 ที่อัตรา 0.7% สวนทางกับรายงานจากหลายประเทศเมื่อไม่นานมานี้ที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลทั่วโลกพากันหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

“ภาพลักษณ์ของถ่านหินในทุกวันนี้เป็นแหล่งพลังงานสกปรก ไม่เหมาะนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จึงทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินใหม่ๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อยๆลดลง แต่ความเป็นจริงที่ว่าความต้องการถ่านหินยังคงเพิ่มขึ้นและเป็นแหล่งพลังงานที่ภูมิภาคนี้ยังจ่ายได้ หมายความว่า จะได้เห็นการลดลงของปริมาณการใช้ถ่านหินหลังปี 2573ไปแล้ว ขณะนี้ ถ่านหิน ยังคงเป็นราชาในตลาดพลังงานของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แจคเกอลีน เทา หนึ่งในผู้ร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้จากวู้ด แมคเคนซี ให้ความเห็น

สอดคล้องกับรายงานแนวโน้มพลังงานโลกปี 2603 ของไออีเอ ที่คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะบริโภคถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่หาได้ง่ายและต้นทุนต่ำ แม้ว่าจะมีความพยายามในการเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก็ตาม

“อาเซียน รวมไปถึงอินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย เป็นศูนย์กลางการเติบโตหลักของความต้องการถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของโลก” ไออีเอ ระบุและว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า ปริมาณการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นจะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง 3 ใน 4

ไออีเอ คาดการณ์ว่า ในปี 2583 สัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปัจจุบัน เป็น 40% ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะลดลงเหลือน้อยกว่า 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 45%

157896198830

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลภาวะและกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จนคาดว่าจะทำให้การบริโภคถ่านหินของจีนลดลงในช่วง2-3ปีข้างหน้า แต่ไออีเอ ก็คาดการณ์ว่าความต้องการถ่านหินในจีนจะทรงตัวภายในปี 2565 จากนั้นจึงค่อยๆลดลงอย่างช้าๆ

ส่วนญี่ปุ่น ที่แม้จะมีการเคลื่อนไหวด้านพลังงานสะอาดบ้างแต่ญี่ปุ่นก็ถูกวิจารณ์กรณีที่ไม่ยอมให้คำมั่นหรือรับปากว่าจะลดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดโลกร้อนของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) นอกจากนี้ ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น 3 แห่งยังปล่อยกู้แก่บริษัทต่างๆที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ซึ่งรวมถึง มิซูโฮะ ไฟแแนเชียล กรุ๊ป มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และสุมิโตโมะ มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ที่ปล่อยกู้ไปประมาณ 39.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2560และไตรมาสที่3ของปี2562

ขณะที่สถาบันการเงินชั้นนำของจีน3แห่ง อันได้แก่ อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชนา ผิง อัน อินชัวรันซ์ กรุ๊ป และซิติก ต่างเป็นอันเดอร์ไรท์ให้กับบรรดาบริษัทพัฒนาถ่านหินแทบทั้งสิ้น

แต่นักกฏหมายซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการพลังงาน ให้ความเห็นว่า แม้สถาบันการเงินชั้นนำยังคงให้การสนับสนุนบริษัทผลิตพลังงานจากถ่านหิน แต่ก็มีโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกิดขึ้นมากมายและอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแนวโน้มที่นำไปสู่การปิดฉากอย่างถาวรของถ่านหิน

ไออีเอ ระบุด้วยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจำนวนที่มากว่าโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน

157896195471