7 สาขาวิศวฯ น่าเรียน จบแล้วมีโอกาสการทำงานสูง
“วิศวกร” ถือเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน แต่น้อง ๆ ม.ปลาย รู้หรือไม่ว่า ถ้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย สามารถเลือกเรียนวิศวฯสาขาไหนได้บ้าง
แต่ละสาขาจะมีเนื้อหาการเรียนอย่างไร จะตรงกับความสนใจของเราหรือไม่ และจบแล้วสามารถทำงานลักษณะใดหรือองค์กรไหนได้บ้าง เพราะปัจจุบันมีสาขาให้เลือกเรียนเพียบ!ทั้งวิศวฯโยธา เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ ฯลฯ
ซึ่งปัญหาคับข้องใจแถมชวนสงสัยเหล่านี้จะหมดไป เพราะในวันนี้ “สภาวิศวกร” เสาหลักของชาติด้านวิศวกรรม จะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับหลักสูตรวิศวฯ ทั้ง7สาขา ที่เรียกได้ว่า เรียนจบแล้วมีงานรองรับแน่นอน!แถมยังเตรียมสตาร์ทเงินเดือนสูงอีกด้วย ซึ่งจะมีสาขาไหนที่น่าสนใจบ้างนั้น ติดตามได้จากรายละเอียด ดังนี้
วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)
สำหรับน้อง ๆ ที่มีฝันอยากเนรมิตสิ่งปลูกสร้าง นับตั้งแต่บ้าน อาคาร ไปจนถึงสะพาน เขื่อน หรืออุโมงค์นั้น “วิศวกรรมโยธา” ถือว่าตอบโจทย์!เพราะน้อง ๆ จะได้เรียนตั้งแต่การเขียนแบบวิศวกรรม การประเมินว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหรือไม่ ต้องเลือกใช้วัสดุ-ขนาดใดในการก่อสร้าง หรือมีแนวทางในการก่อสร้างอย่างไรที่กระทบกับผู้คนโดยรอบน้อยที่สุด โดยสิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียน อาทิ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กลศาสตร์ วัสดุวิศวกรรม ธรณีวิทยา การวิเคราะห์โครงสร้าง เทคนิคการบริหารงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินการและการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้าง
โดยอาชีพที่น้อง ๆ สามารถทำได้ เช่น วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง วิศวกรที่ปรึกษา ประจำบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ วิศวกรประจำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ
วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining Engineering)
ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีความสนใจเกี่ยวกับที่มาของแร่ธาตุ และอยากลองขุดคุ้ยเพื่อหาสินแร่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง “วิศวกรรมเหมืองแร่” คือคำตอบ!เพราะน้อง ๆ จะได้รับรู้ถึงความสำคัญของแร่ในหลากหลายมิติ ทั้งเชิงอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน เชื้อเพลิง และเครื่องประดับ พร้อมลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหา ขุดแยก และจัดการกับแร่ธาตุจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียน อาทิ ธรณีวิทยา แร่และหิน โลหะวิทยา เทคโนโลยีปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
ซึ่งน้อง ๆ สามารถต่อยอดอาชีพได้ในหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ กรมทรัพยากรธรณี บริษัทเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โรงงานปูนซีเมนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ
วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
น้อง ๆ คนไหนรู้ตัวว่าชอบงานเครื่องกล หรือหลงเสน่ห์การเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนจักรกลต่าง ๆ เตรียมตัวให้พร้อมแล้วสมัครเรียน “วิศวกรกรรมเครื่องกล” ได้เลย เพราะสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร การศึกษาการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน การวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ หุ่นยนต์ พร้อมเปิดโอกาสให้ลงมือออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงรักษาระบบเชิงกลด้วยตนเองทุกแขนง ซึ่งวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้ กลศาสตร์ พลศาสตร์ เมคคาทรอนิกส์ วัสดุวิศวกรรม การออกแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
โดยตัวอย่างอาชีพที่น้อง ๆ สามารถทำได้ในอนาคต เช่น วิศวกรออกแบบชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในโรงงาน วิศวกรควบคุมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ ฯลฯ
วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
หากน้อง ๆ คนไหนที่สนุกกับการเชื่อมต่อแผงวงจรไฟฟ้า หรือรู้สึกดีทุกครั้ง ก็สามารถยื่นใบสมัครสอบ “วิศวกรรมไฟฟ้า” ได้เลย เพราะสาขานี้จะทำให้น้อง ๆ ใจเต้นแรงขึ้นไปอีก เมื่อต้องเรียนเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การวิเคราะห์-ออกแบบ-ผลิตระบบไฟฟ้าที่ใช้ตามครัวเรือน อาคารสำนักงาน และโรงงาน การควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน การควบคุมวงจรไฟฟ้าในระบบการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียน ตัวอย่างเช่น ระบบไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์กำลัง คณิตศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้า การออกแบบระบบสื่อสาร ฯลฯ
โดยน้อง ๆ สามารถเลือกเส้นทางอาชีพได้ดังนี้ วิศวกรด้านไฟฟ้ากำลัง วิศวกรด้านโทรคมนาคม วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)
หากคนไหนรู้ตัวว่าเป็นคนชอบสังเกต คิดเป็นระบบ และบ่อยครั้งที่คิดหาวิธีลดขั้นตอนการทำงานที่ได้รับมอบหมาย แถมยังชื่นชอบสายอาชีพวิศวฯ อีกด้วย เตรียมตัวสมัครเรียน‘วิศวฯอุตสาหการ’กันได้เลย เพราะสาขานี้ เน้นเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบ และพัฒนาระบบงานภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย‘การสังเกต’ใน2มิติหลัก คือ‘การจัดสรรทรัพยากรการผลิต’ผลิตอย่างไรให้คุ้มค่าและได้กำไรสูงสุด และ‘เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต’ผลิตอย่างไรให้สามารถลดของเสียจากการผลิตได้มากที่สุด โดยวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้ วัสดุวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์วิศวกรรม การวางแผนและควบคุมการผลิต การพยากรณ์ทางอุตสาหกรรม ฯลฯ ตัวอย่างอาชีพที่น้อง ๆ ทำได้ อาทิ ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรวางระบบ วิศวกรในสถาบันการเงิน นักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ฯลฯ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)
หากน้องเป็นคนหนึ่งที่หายใจเข้าและออก ถึงแต่เรื่อง‘มลภาวะสิ่งแวดล้อม’ว่าเป็นปัญหาที่สังคมต้องเร่งแก้ หรืออยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป แสดงว่า น้อง ๆ เริ่มจะตกหลุมรัก‘วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม’เข้าซะแล้ว เพราะสาขานี้จะพาไปเรียนรู้ตั้งแต่ประเภททรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพของของเสีย โดยรายวิชาที่จะได้เรียน เช่น เคมีของน้ำและน้ำเสีย การออกแบบระบบท่อระบายน้ำเสียและการสูบน้ำ มลพิษทางอากาศและการควบคุม การสุขาภิบาลอาคาร การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ทั้งนี้ สายวิศวฯ สิ่งแวดล้อมสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดังนี้ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน การบริหารจัดการระบบมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจ กระบวนการผลิตทางเคมีในภาคอุตสาหกรรม หรือการแปรสภาพสารเคมี สู่‘เคมีภัณฑ์’ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางเคมี บนพื้นฐานของการคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิชาที่ จะได้เรียน อาทิ เคมีพื้นฐาน กระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น การบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรม เทคโนโลยีปิโตรเลียม ฯลฯ
ตัวอย่างอาชีพที่สามารถทำได้ อาทิ วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิต วิศวกรความปลอดภัยกับงานสิ่งแวดล้อม วิศวกรออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผู้ประกอบการธุรกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ วิศวฯ ทั้ง7สาขาข้างต้น ยังพ่วงมากับ“ใบ ก.ว.” หรือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” โดยมี“สภาวิศวกร” เป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาตซึ่งใบ ก.ว. เปรียบเหมือนใบเบิกทางสู่โอกาสสำคัญในการทำงานด้านวิศวฯ ในรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้านวิชาชีพแก่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสายงานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน นอกจากนี้ ยังเป็นบันไดอีกขั้นที่ช่วยให้น้อง ๆ สามารถเข้าใกล้ประสบการณ์ทำงานระดับอาเซียนและทั่วโลกในอนาคต
น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน “ประเทศไทย” มีวิศวกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และถือใบ ก.ว. ในภาคอุตสาหกรรมเพียง1.7แสนคนเท่านั้น!ขณะที่มากกว่า90%ของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ล้วนแต่ต้องการวิศวกรสาขาพื้นฐาน เข้ามาช่วยก่อร่างสร้างเมืองให้มีคุณภาพในมิติต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ผ่านการเนรมิตสิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างมั่นคงและครบทุกฟังก์ชันการใช้งาน การใช้ประโยชน์จากแร่ธรรมชาติในการก่อสร้าง รวมไปถึงการจัดระบบการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น
สำหรับน้อง ๆ ที่จะขอรับใบอนุญาตฯ สามารถตรวจสอบ “หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ที่ผ่านการรับรองโดยสภาวิศวกร” ก่อนเข้ารับการศึกษาได้ที่www.coe.or.th/http_public/main/choice_1/certified/examination.phpหรือสายด่วน1303