คลัง-แบงก์ชาติ ร่วมสร้างร่วมแก้
ขณะนี้ เงินบาทแข็งค่า จะเป็นปัญหาเรื่องเดียวกันที่กระทรวงการคลัง-แบงก์ชาติต้องเร่งแก้ แต่แนวทางในการรักษาเศรษฐกิจไทยไปคนละทิศละทางที่มองคนละมุม แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองหน่วยงานต้องตกผลึกร่วมกันเพื่อที่จะส่งสัญญาณออกไปให้ชัดเจน
ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ยาวนานและแข็งกว่าประเทศอื่นๆ ในเพื่อนบ้าน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่หากพิจารณาจากมุมมองของสองหน่วยงานเศรษฐกิจ ที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง อย่างแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ดูเหมือนจะมีมุมมองในการหาทางออกแก้ปัญหามีความแตกต่างกันพอควร เพราะหากฟังเสียงจากแบงก์ชาติ ค่อนข้างชัดเจนว่า การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เงินบาทอ่อนนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง หรือหากมีไม่ควรใช้ยาแรง ในทางกลับกันกระทรวงการคลัง ดูจะเดือดร้อนมากกว่าปกติ ในแง่ที่ต้องดูแลความรู้สึกผลกระทบ และอารมณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อยากเห็นยกระดับมาตรการที่แรงขึ้น ในแง่กระทรวงการคลังทำอย่างไรให้มีการลงทุนต่างประเทศ
อย่างที่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าในส่วนกระทรวงการคลังนั้น เบื้องต้นจะสนับสนุนให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่จะต้องมีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องการลงทุนต่างประเทศแก่นักลงทุนให้มากขึ้น ที่สำคัญกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ต้องออกมาตรการชุด ถึงจะได้ผล ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอกย้ำถึงขนาดนี้ โดยอ้างข้อมูลของ แบงก์ชาติเอง ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเร็วและอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้กลับมาอยู่ในระดับที่พอดี จึงจำเป็นต้องออกชุดมาตรการ และต้องทำงานร่วมกัน และต้องออกมาให้รวดเร็ว
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมมองของแบงก์ชาติ ให้น้ำหนักค่าเงินบาทแข็ง เกิดจากพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจ เหตุผลหลัก มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จากการที่ประเทศไทยมี รายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า ไม่ได้มาจากความเข้าใจที่ว่าบาทแข็งมาจากการเก็งกำไรระยะสั้น หากเข้าแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
และหากเป็นที่สังเกตของประเทศอื่นๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกในระยะยาวได้และที่ผ่านมาตลอด 5 ปี แบงก์ชาติ เข้าดูแลอย่างเต็มที่ สะท้อนได้ผ่านเงินทุนสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ หากดูจากสองมุมมองคลังและแบงก์ชาติ ยังมีความต่างกันอยู่บ้างกับปัญหาบาทแข็ง แต่ถึงอย่างไรต้องหารือให้ตกผลึก ว่าเรื่องนี้จะเอาอย่างไร ทั้งสองหน่วยงานทั้งร่วมกันสร้างและร่วมกันแก้ เพื่อที่จะส่งสัญญาณออกไปให้ชัดเจน เอกชน ประชาชนจะได้ตั้งรับปรับตัวถูกทิศทาง