นับ1 ปลูกกัญชาในระดับครัวเรือน
"อนุทิน"เก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยล็อตใหญ่ที่สุดในประเทศ ม.แม่โจ้ปลูกระดับอุตสาหกรรม คาดได้ช่อดอกกัญชาสด 10,000 กิโลกรัม อภ.ผลิตสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น ได้ราว 180,000 ขวด พร้อมเริ่มปลูกกัญชาระบบกลางแจ้งต้นแรก เป็นต้นแบบปลูกในระดับครัวเรือน
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 ที่จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยช่อดอกแรก พร้อมปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เป็นต้นแบบใช้ทางการแพทย์ในระดับครัวเรือน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์องค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือน (Indoor) แห่งแรกของอาเซียนจำนวน 12,000 ต้น ปลูกเมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งได้ทยอยเจริญเติบโตสมบรูณ์เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาสด 10,000 กิโลกรัม หรือแบบแห้ง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีสารสำคัญ THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด ส่งให้อภ.สกัดเป็นยาสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ และวันนี้ยังได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้
“นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ไทยนำกัญชาสายพันธุ์ไทยมาผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันแบบเมดิคัลเกรด โดยใช้ช่อดอก ขณะที่ส่วนของต้น ราก ใบไปทำส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการพัฒนาและยกระดับกัญชาสายพันธุ์ไทย ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ พึ่งพาตนเองและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน” นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งที่ม.แม่โจ้จะนำไปสู่การปลูกกัญชาในครัวเรือน 6 ต้นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า การให้ปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้นต้องรอกฎหมายที่เป็นพ.ร.บ.เกี่ยวกับกัญชา ซึ่งขณะนี้อยู่ในสภาผูแทนราษฎรแล้ว คาดว่าจะสามารถออกมาได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งผู้แทนราษฎรก็ควรต้องร่วมผลักดันสิ่งที่เกิดประโยชน์กับราษฎร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศไทยไปไกลกว่านั้น คือหาช่องทางกฎหมายในการอำนายความสะดวกให้กับผู้ที่จะปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยต้องขออนุญาตและแจ้งว่าจะปลูกกี่ต้น ใช้สายพันธุ์อะไรซึ่งต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ปลูกพันธุ์ทาง เพราะต้องการให้ปลูกเพื่อเป็นสมุนไพรในครัวเรือน บรรเทาอาการ เจ็บป่วย แต่ในระยะต้นจะต้องมีการควบคุมการปลูกก่อน ต้องมีรั้วรอบ และกล้องวงจรปิด จนกว่าประชาชนจะเข้าใจการใช้ประโยชน์กัญชา ก็จะค่อยๆผ่อนคลาย
รศ.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการวิจัยการปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนอัจฉริยะ จนได้รับการรับรองมาตรฐานจาก IFOAM และ USDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ภายในโรงเรือนแบบ Smart Farming ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ทำโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์เสนอต่อกรมการแพทย์ สธ. จนเกิดการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ขึ้นระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชาในพื้นที่จำเพาะในโรงเรือนอัจฉริยะ เนื้อที่จำนวน 3,040 ตารางเมตร ซึ่งสามารถปลูกกัญชารุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล และเริ่มปลูกเมื่อต่อเดือน กันยายน 2562 ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแลกัญชารุ่นแรกจำนวน 12,000 ต้น ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ จนนำมาสู่การเก็บเกี่ยวดอกกัญชา และปลูกต้นกัญชาระบบเปิด (Outdoor)
ศ.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒน่เกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ช่อดอกที่ได้มีความยาวมากสุดถึง 120 เซนติเมตร จากนี้จะเก็บเกี่ยว 500 ช่อต่อวัน ส่วนการปลูกแบบกลางแจ้งเพื่อเป็นต้นแบบต่อจากนี้ จะปลูกจำนวน 4,700 ต้น โดยเป็นสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศ 7 สายพันธุ์ ทำการปลูกแบบอินทรีย์เช่นเดียวกับในระบบปิด แต่คาดว่าจะมีโรคแมลงกัญชามากขึ้นถึง 3 เท่า จำเป็นต้องเพิ่มความถี่ในการจัดการแมลงมากกว่าในระบบปิด โดยใช้แมลง และพืชบางชนิดที่ดึงดูดแมลงแทนเพื่อไม่ให้แมลงมาที่ต้นกัญชา ซึ่งการปลูกกลางแจ้งน่าจะทำให้ต้นกัญชารอดเพียง 50% แต่จะพยายามให้ได้มากกว่านี้จะถือว่าประสบความสำเร็จ น่าจะใช้เวลาในการปลูกราว 4 เดือนจะเก็บเกี่ยวได้
ข้อดีของการปลูกกลางแจ้งคือปลูกได้ปริมาณมากและประหยัดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วว่าต้นทุนในการสร้างโรงเรือนอบบปิดกับการที่ต้องเพิ่มความถี่ในการตัดการแมลงจะมีต้นทุนแตกต่างกันอย่างไร ส่วนที่มีข้อกังวลว่าปลูกกลางแจ้งกัญชาจะดูดโลหะหนักนั้น เนื่องจากส่วนที่จะดูดคือราก เพราะฉะนั้นการปลูกกลางแจ้งของม.แม่โจ้เป็นการปลูกในวัสดุที่สะอาดบรรจุในถุง เมื่อเคลื่อนย้ายไปปลูกพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่เคมีมาก่อน ที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตจากการปลูกสตอเบอรี่หรืออื่นๆ ผลผลิตที่ได้ยังเป็นอินทรีย์ไม่มีการปนเปื้อน
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ดอภ. กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาแห้งที่ปลูกโดยม.แม่โจ้ จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ถูกจัดส่งตามแนวทางมาตรฐานการขนส่งที่ดี หรือจีดีพี (GDP -Good Distribution Practice) และมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือจีเอสพี (GSP -Good Security Practice) มีการทวนสอบกลับได้ ตั้งแต่ปลายทางจนถึงต้นทาง ทั้งปริมาณ สภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัยระหว่างการขนส่ง มีระบบการบันทึกเพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางที่ขนส่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และผลิตต่อไป
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวครั้งนี้จะผลิตเป็นสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น มีอัตราส่วนทีเอชซี( THC )ต่อ ซีบีดี(CBD) เป็น 1 ต่อ 1 บรรจุขวดขนาด 5 ซีซี ได้ประมาณ 180,000 ขวด และจะประสานกับกรมการแพทย์เพื่อผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญตามความต้องการใช้กับผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย ด้วยกระบวนที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาตาม มาตรฐานทางการแพทย์จากอภ. ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี หรือจีซีพี (GCP-Good Clinical Practice) รวมถึงการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับอภ.และหน่วยงานต่างๆ ในการสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิด CBD เด่น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ CBD ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
พล.ต.ท.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี รองจเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้มีการคิดค้นระบบเพื่อนำมาใช้ควบคุม และติดตามกัญชาที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลออกนอกระบบและป้องกันการนำกัญชาระบบที่ผิดกฎหมายเข้ามาในระบบที่ถูกต้อง โดยจะมีระบบติดตามต้นกัญชาที่ได้รับอนุญาตในการปลูกเป็นรายต้น ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง สกัด และแปรรูป เป็นระบบที่สามารถใช้ได้ทั้งการปลูกระดับอุตสาหกรรมและในครัวเรือน ซึ่งระบบจะสามารถติดตามและแยกแยะกัญชาถูกกฎหมายออกจากกัญชาที่ผิดกฎหมายได้ รวมถึง การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกด้วย