'ศักดิ์สยาม' รื้อแผนฟื้นฟู ขสมก.สั่งเช่ารถเมล์เอกชนแทนซื้อใหม่
“ศักดิ์สยาม” สั่งปรับแผนฟื้นฟู ให้ ขสมก. หันเช่ารถโดยสารเอกชนแทนจัดซื้อ คิดค่าใช้จ่ายตามระยะทางใช้งาน หวังประหยัดงบ 1 หมื่นล้านบาท ชงบอร์ด ก.พ.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” วานนี้ (15 ม.ค.) โดยระบุว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ขสมก.ในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูองค์กรอีกครั้ง เนื่องจากเล็งเห็นว่า หาก ขสมก.ใช้แผนฟื้นฟูฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2562 อาจส่งผลให้ ขสมก. มีผลประกอบการที่ดีในระยะสั้น และกลับเข้าสู่วงจรขาดทุนอีก
สำหรับเป้าหมายของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูบับใหม่นี้ มีเป้าหมายทั้งในด้านของการแก้ปัญหาเรื่องจราจรติดขัด ลดมลภาวะ พัฒนาคุณภาพบริการ ลดภาระค่าโดยสารให้ประชาชน เบื้องต้นคาดว่า คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. จะพิจารณาการทบทวนแผนฟื้นฟูได้ใน ก.พ.นี้ จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ก็จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูนี้ ประเด็นสำคัญ คือ การเปลี่ยนวิธีการจัดหารถโดยสาร 3,000 คัน จากวิธีการซื้อ/ปรับปรุงรถเก่า เป็นวิธีการเช่าทั้งหมด โดยรูปแบบของการเช่า ขสมก.จะจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่งให้บริการจริง (บาทต่อกิโลเมตร) เพื่อลดต้นทุนในการจัดหาและซ่อมบำรุงรถโดยสาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงประมาณ 50 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ ขสมก. จะเน้นเช่ารถเมล์ปรับอากาศที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รถไฮบริด, รถไฟฟ้า (EV) และรถที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) มาวิ่งให้บริการประชาชน ทดแทนรถโดยสาร (รถเมล์) เก่าที่มีสภาพทรุดโทรม รวมทั้ง ขสมก.จะมีการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสาร จัดเก็บค่าโดยสารในรูปแบบตั๋วรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ในราคา 30 บาทต่อวัน ตั๋วรายเดือน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) และตั๋วรายเที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน
“แผนฟื้นฟูใหม่นี้ จะช่วยประหยัดงบกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพราะแผนฟื้นฟูฉบับเดิมใช้วงเงินลงทุน 27,214.434 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินที่ใช้ในการซื้อรถใหม่/ปรับปรุงสภาพรถเก่า 14,111.959 ล้านบาท เช่ารถ 7,098.384 ล้านบาท และโครงการสมัครใจจาก (Early Retirement) 6,0004.00 บาท แต่แผนที่ทบทวนใหม่ใช้เงินลงทุนรวมเพียง 16,004 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับเงินอุดหนุน (PSO) จากรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี ปีละ 2,000 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 1 หมื่นล้านบาท และโครงการเออร์รี่รีไทร์ 6,004 ล้านบาท โดยไม่มีการใช้เงินในการจัดซื้อรถเมล์ใหม่”
นายสุระชัย กล่าวอีกว่า ภายใต้แผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก. จะปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทาง เหลือ 104 เส้นทาง เพื่อไม่ให้มีความทับซ้อนด้วย เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีบางเส้นทางที่เดินรถทับซ้อนกันมากกว่า 20 - 30 สาย
ขณะเดียวกัน ขสมก. จะเชิญชวนรถร่วมบริการ ขสมก. (รถร่วมฯ) ที่มีใบอนุญาตมาวิ่งให้บริการเป็นเครือข่ายเดียวกัน จัดเก็บค่าโดยสารเท่ากับ ขสมก. ในอัตรา 30 บาทตลอดวัน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และลดปัญหาการจราจร โดยแนวทางนี้จะเป็นการเชิญชวนภาคสมัครใจ ไม่มีการบังคับ โดยเบื้องต้นมั่นใจว่า รถร่วมฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเข้าร่วม แต่หากบางส่วนไม่เข้าร่วม ก็สามารถเก็บค่าโดยสารรถเมล์ใหม่ในอัตรา 15-25 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิม ซึ่งลักษณะนี้อาจทำให้ประชาชนเสียค่าโดยสาร 2 ต่อ แต่ก็มองว่าเป็นทางเลือกของประชาชน
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) กล่าวว่า กลุ่มรถร่วมฯ พร้อมสนับสนุนแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุง และพร้อมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายรถเมล์กับ ขสมก. โดยจะนำรถเมล์กว่า 1,500 คัน 50 เส้นทางเข้าร่วม เพราะเล็งเห็นว่าแนวทางนี้ทำให้กลุ่มรถร่วมฯ มีความเสี่ยงต่ำ มีรายได้แน่นอน ไม่เกิดปัญหาขาดทุน ผู้ประกอบการจะรับผิดเฉพาะต้นทุนค่าบำรุงรักษาอย่างเดียว