'เอสซีบี' จ่อขยายแบงกิ้งเอเยนต์ปีนี้
“ไทยพาณิชย์” เล็งขยายแบงกิ้งเอเยนต์เพิ่ม ปิดสาขาที่ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ คาดจำนวนสาขาปีนี้ทรงตัวที่ 900 -1,000 แห่ง เดินหน้าธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ ตั้งเป้าขายเบี้ยโต 20% หวังเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า การปรับลดสาขาของธนาคาร จะมุ่งลดสาขาที่ไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้วเท่านั้น ดังนั้นจำนวนสาขาในปีนี้น่าจะทรงตัวที่ระดับ900-1,000สาขา ขณะเดียวกันทางด้านธุรกิจแบงกิ้งเอเยนต์ในปีนี้ ธนาคารยังมีแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาร่วมมือกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี
สำหรับภาพรวมธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ในปี2563 คาดว่ายังมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยต่อเนื่องมากกว่า20% จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม(ค่าฟี)ให้กับธนาคารในภาวะที่ธุรกิจธนาคารเผชิญภาวะค่าฟีลดลง โดยภาพรวมเบี้ยประกันภัยของธนาคาร มาจากช่องทางขายผ่านสาขาเป็นหลักในสัดส่วน 80-90% และช่องทางผ่านดิจิทัลประมาณ 10-20%
"ช่องทางขายผ่านดิจิทัลมีแนวโน้มโตมากขึ้น ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนในเมือง ที่หันมาทำธุรกรรมต่างๆบนโมบายแบงกิ้งมากกว่าคนในต่างจังหวัด โดยปัจจุบันธนาคารมียอดลูกค้าโมบายแบงกิ้งกว่า 10ล้านราย จากฐานลูกค้าทั้งหมด 16 ล้านคน"
ทั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมกับ บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) หรือ SCBLIFE บริษัทในเครือกลุ่มเอฟดีบบลิวดี เปิดตัว SCB Muilti Care Multi Claims เคลมคุ้มกลุ่มโรคร้าย (MCCI) เป็นผลิตภัณฑ์ประกันตัวแรก หลักจากประกาศความร่วมมือรกับกลุ่มเอฟดับบลิวดี หลังจากเริ่มขายผ่านช่องทางสาขาของธนาคารเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มียอดขายจำนวน 300 กรมธรรม์แล้ว คาดว่าจะตลาดตอบรับอย่างดี
ปัจจุบัน อัตราการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยมีสัดส่วนน้อย จึงเป็นโอกาสสร้างการเติบโต ด้วยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ใหม่ อินไซด์มาจากความต้องการของลูกค้า กลุ่มเป้าหมายหลักอายุ 30-50ปี ที่ต้องการความคุ้มครองและช่วยเหลือด้านค่าใช่จ่าย หากไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงจนครบสัญญา มีสิทธิ์รับเบี้ยประกันที่จ่ายมาทั้งหมดคืน นอกจากนี้ เมื่อเป็นโรคร้ายแรงยังเคลมได้หลายครั้งและหยุดจ่ายเบี้ยประกันเมื่อเจอเคลมใหญ่แต่คุ้มครองต่อจนครบสัญญา
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สัดส่วนประกันชีวิตผ่านช่องทางธนาคารส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเภทสะสมทรัพย์ หลังจากนี้จะมีผลิตภัณฑ์ประเภทความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพออกมาทำตลาดเพิ่มมากขึ้น
นายเดวิช โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBLIFE เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วน 90% ของพอร์ตรับประกันเป็นประเภทสะสมทรัพย์ ที่เหลืออีก10% เป็นประเภทความคุ้มครอง ตั้งเป้าปรับสัดส่วนพอร์ตการรับประกัน มาเน้นประเภทความคุ้มครองเป็นหลัก เนื่องจากต้องการบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ซึ่งปัจจุบันยังสามารถบริการจัดการได้ดี และมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนมุมมองที่ผู้คนมีต่อประกันชีวิต ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เคลมคุ้มกลุ่มโรคร้าย ที่จะตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ลูกค้าในแบบที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน