สอนอย่างเดียวไม่ได้ต้องพัฒนาเด็ก เป็นครูต้องมีเวลาสอน-อยู่ห้องเรียน
ครู” เป็นบุคคลสำคัญ และเป็นต้นแบบของใครหลายคน เพราะกว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพได้นั้น นอกจากสถาบันครอบครัวแล้ว สถาบันการศึกษา ซึ่งมี “ครู” ถือเป็นแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์คนที่สองรองจากพ่อแม่ในการอบรม เลี้ยงดู สั่งสอน นักเรียน
16 มกราคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดงานกิจกรรมวันครู ครั้งที่ 64 ภายใต้คำขวัญ วันครู “ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีพร้อมมอบรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2563 และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2562 “ระดับดีเด่น”ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีคารวะครูสมัยเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ได้แก่ ครูวีระ เดชพันธ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครูเปรียบเหมือนพ่อแม่คนที่สอง โดยหน้าที่ของครู คือการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้และมีสติปัญญา เพราะเด็กเป็นผ้าขาวที่ครูจะเป็นผู้เติมแต่งสีสันลงไปให้แก่ชีวิตลูกศิษย์ และเด็กจะดีหรือไม่ดีมาจากครู โดยอยากให้ครูสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ เพราะการคิดวิเคราะห์จะนำไปสู่การคิดอย่างมีสติ การคิดแบบสร้างสรรค์ เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
รวมถึงอยากให้ครูทำงานร่วมกับรัฐบาลให้มากขึ้น เนื่องจากครูมีบทบาทสำคัญที่ต้องบ่มเพาะศีลธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็ก โดยคิดว่าเด็กต้องรู้จักศีล 5 ไม่ใช่แค่เพียงการท่องจำ แต่ต้องรู้ความหมายและปฏิบัติตาม เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้คู่ศีลธรรม สร้างทัศนคติที่ดีให้แก่เด็กเกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดความปรองดอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงสอนอย่างเดียว แต่ที่สำคัญต้องทำให้เด็กรู้ความถนัดของตัวเอง และส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ไม่ใช่เป็นการบังคับให้เด็กต้องเรียนตามแบบนั้นแบบนี้ อีกทั้งต่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และครูต้องสอนเด็กให้พร้อมสู่โลกในศตวรรษที่ 21 แต่ถึงอย่างนั้นครูต้องไม่ลืมการถ่ายทอดความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้แก่เด็กด้วยว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
“ขณะนี้ ศธ.กำลังแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งขอฝากไปยังครูจบใหม่อย่าสร้างหนี้ครู รู้จักประเมินค่าใช้จ่ายของตนเองด้วย รวมถึงอยากให้ครูมีวุฒิการศึกษาที่ตรงกับสาขาวิชาที่สอน ต้องประเมินตนเองว่าจบสาขาวิชานั้นมาแล้วถ่ายทอดได้ดีหรือไม่ รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาการผลิตครูร่วมกับอุดมศึกษาอยู่ เพราะเห็นว่าทุกวันนี้เด็กไทยยังไม่รู้จักคำว่าวิทยาศาสตร์ดีพอ ส่วนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์อยากให้ครูสอนวิชานี้แบบเชิงลึกมากขึ้นไม่ใช่เด็กเรียนแล้วแต่ไม่รู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์”นายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี อยากให้ครูเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม หากครูสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ทางด้านไอทีควบคู่กับการมีคุณธรรมได้นั้นถือว่าประสบความสำเร็จ
วณิชชา เลี่ยววาณิชย์ ผู้บริหารโรงเรียนวัดท่าไทร (ดิตถานุเคราะห์) จ.สุราษฎ์ธานี กล่าวว่า อยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดภาระ กิจกรรมของครูลง เพื่อให้ครูได้มีเวลาคิดค้นกระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสม และอยู่ในห้องเรียนกับเด็กมากขึ้น เพราะตอนนี้ภาระหน้าที่ของครูเยอะมาก บางคนอยากคิดกิจกรรมดีๆ เหมาะสมกับบริบทในห้องเรียนของตนเอง สภาพแวดล้อมในชุมชนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดตามกรอบการประเมิน ตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งถ้าครูไม่ทำตามก็จะมีผลต่อโรงเรียน คุณภาพการเรียนการสอนของครู
“ตอนนี้ทุกหน่วยงานพยายามผลักดันให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องยอมรับว่าเด็กยุคใหม่สนใจการเรียนรู้จากเทคโนโลยี โซเซียลมีเดีย มากกว่าการที่ครูมายืนสอนหน้าชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว ส่งให้ครูส่วนใหญ่พัฒนาตนเอง รู้จักบูรณาการเทคโนโลยี สื่อใหม่เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อดึงดูด กระตุ้นความสนใจของนักเรียน แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการประเมิน เพราะสุดท้ายการประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของเด็กก็ยังไปอินตามเกณฑ์ ตามเกรด และคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ไม่ได้อินตามสมรรถนะการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นจริงๆ” วณิชชา กล่าว
การพัฒนาครูอันนำไปสู่การพัฒนาเด็ก ต้องทำให้ครูได้ใช้เวลาอยู่กับเด็กมากที่สุด ซึ่ง การอบรมครูออนไลน์ เป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้ครูได้พัฒนาตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พรพิไล เดชภักดี ครูปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลควนกาหลง จ.สตูล ได้รับรางวัลคุรุสภาระดับเด่นดี กล่าวว่า อยากฝากครูรุ่นใหม่และครูทุกคนให้ภาคภูมิใจในความเป็นครูของเรา เพราะอาชีพครูคืออาชีพแห่งการสร้างคนไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีแค่ไหน แต่ความเป็นครูจะต้องดูแลใส่ใจลูกศิษย์ตลอดเวลา พร้อมกับส่งเสริมให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม เพราะเราเปรียบเสมือนเรือจ้างที่จะต้องส่งเด็กให้ถึงฝั่งฝัน