ประมูลอู่ตะเภา กรณีศึกษาของทุกคน
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีคืบหน้า 2 โครงการ ทั้งรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ด้านศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานอู่ตะเภาเกิดข้อขัดข้อง ทำให้ต้องเริ่มขั้นตอนใหม่ ส่วนที่เหลือยังมีข้อพิพาท ทั้งหมดดูจะล่าช้าพอสมควร ถึงเวลานี้คงรีรอไม่ได้แล้ว
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ข้อสรุปเพียง 2 โครงการ จาก 5 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจีเทอร์มินอล จำกัด เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562
ในขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภามีข้อขัดข้องในการเปิดประมูล ทำให้ต้องมาเริ่มขั้นตอนการประมูลแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนใหม่ ส่วนการประมูลอีก 2 โครงการ มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการกับเอกชนผู้ยื่นซองประมูล คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยทั้ง 2 โครงการถูกนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อให้ยุติข้อพิพาท
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื่องจากโครงการหลังจะได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่ ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์
หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาทำให้มีผู้ประมูลที่อยู่ในขั้นตอนการประมูลครบทั้ง 3 ราย ในขณะที่หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างกรมบัญชีกลางต้องเข้ามาศึกษาระเบียบการประมูลงานภาครัฐ เพื่อนำกรณีดังกล่าวมาพัฒนากฎระเบียบการประมูลงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานรัฐ ที่มีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
การประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอีอีซีจึงถือว่ามีความล่าช้าพอสมควร รวมทั้งโครงการที่ยังไม่มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ถูกเลื่อนกำหนดมาตลอด ซึ่งสวนทางการนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่การเบิกจ่ายงบประมาณ 2563 ล่าช้าไปกว่ากำหนดมาก และเงินบาทแข็งค่าที่เป็นช่วงเหมาะสมสำหรับการลงทุนนำเข้าสินค้าทุน จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ