WEF เตือนโลกร้อนก่อความเสียหายพุ่ง
ดับเบิลยูอีเอฟ เตือนโลกเตรียมเผชิญหน้าภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นหากไม่ร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้านอุตุนิยมวิยาโลก เตือนปี63อากาศร้อนหนัก อาจเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ขณะสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออสเตรเลีย เผยไฟป่าทำอุตฯท่องเที่ยวเสียหาย
เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) เผยแพร่รายงานการศึกษาล่าสุดที่บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม บริษัทเอกชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐบาลโดยถ้วนหน้า โดยจะก่อต้นทุนแก่บริษัทขนาดใหญ่สุดของโลกจำนวนกว่า 200 แห่งเป็นเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเห็นผล
นอกจากนี้ ดับบลิวอีเอฟ ยังระบุว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้งบประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยน และภายในสิ้นศตวรรษนี้ ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของสหรัฐประมาณ 10% และการที่สหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้เหลือ 0% ภายในปี 2593 จำเป็นต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์
อุตุฯโลกเตือนปี 63 อากาศร้อนหนัก
องค์การอุตุนิมยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) แถลงว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่ร้อนเป็นอันดับ 2 ของโลกนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา และสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนมากกว่าเดิมในปีนี้ และปีต่อๆ ไป
ดับเบิลยูเอ็มโอ ซึ่งมีฐานอยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมทั้งจากองค์การนาซา และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษ ซึ่งผลวิเคราะห์ เผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2562 อยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับที่บันทึกไว้ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และกำลังขยับขึ้ยไปสู่ระดับที่ทั่วโลกตั้งเพดานไว้ ซึ่งหากสูงไปกว่านี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อชีวิตบนโลก
ด้านคณะนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อสภาพอากาศสุดขั้วในปี 2562 เช่นคลื่นความร้อนในยุโรป และพายุเฮอริเคนดอร์เรียน ที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 50 ราย หลังพัดถล่มบาฮามาสเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และในอนาคต โลกอาจเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญที่จะทำให้สภาพอากาศทั่วโลกร้อนขึ้นอีก
การเผยแพร่ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มีขึ้นในช่วงที่บรรดาผู้นำโลก ตัวแทนภาครัฐบาลและภาคเอกชนจาก 117 ประเทศ เตรียมเข้าร่วมการประชุมด้านเศรษฐกิจระดับโลก เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในสัปดาห์หน้า โดยคาดกันว่า ความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นประเด็นใหญ่ในปีนี้
นายเคลาส์ ชว็อบ ผู้ก่อตั้ง เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้ง เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม ว่า ทั่วโลกไม่ได้ต้องการให้เกิดความขัดแย้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งไม่ต้องการให้โลกไปถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกแล้ว แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ บอกได้ว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉิน และทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะร่วมมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนจะสายเกินไป ซึ่งเวที เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม ก็เป็นอีกช่องทางที่ผู้นำโลกจะแสวงหาความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตเหล่านี้ได้
ไฟป่าฉุดรายได้ท่องเที่ยวออสซี่กว่า 690 ล้านดอลล์
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวออสเตรเลีย (เอทีไอซี) ระบุว่า ไฟป่าออสเตรเลียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 690 ล้านดอลลาร์ โดยจำนวนการจองที่พักในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าถูกยกเลิกไปเกือบ 100% นอกจากนี้ การจองที่พักในบริเวณใกล้เคียงแต่ไม่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าก็ถูกยกเลิกไปกว่า 60% เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในกรุงแคนเบอร์รา ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า แต่ถูกปกคลุมด้วยควันไฟก็รายงานว่า มีอัตราการยกเลิกที่พักถึง 20% ซึ่งการยกเลิกการจองที่พักส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่เลือกว่าจะอยู่ที่บ้าน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่ได้ยกเลิกการจองที่พักแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเตือนว่า ชื่อเสียงของออสเตรเลียในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้รับผลกระทบจากเหตุไฟป่า
นายไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า, การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับซิดนีย์ มอร์นิง เฮอราลด์ หลังเข้าประชุมกับสมาชิกอาวุโสของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า “เราจะรายงานความคืบหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ เพื่อแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพื้นที่การลุกลามของไฟป่าเหล่านั้น และยังมีกิจกรรมเป้าหมายที่ดำเนินต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อให้นานาประเทศรู้ว่า ออสเตรเลียยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวและเรายังคงต้องการให้นักท่องเที่ยวมาเยือน”
เยอรมนีเตรียมปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 15 ปี
รัฐบาลเยอรมนีเห็นชอบเรื่องแผนปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดทั่วประเทศภายในช่วง 15 ปีข้างหน้า โดยเมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล เสนอให้เยอรมนีเลิกผลิตไฟฟ้าด้วยการเผาถ่านหินภายในปี 2581 เพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ของประเทศที่ยังต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินอยู่
ทั้งนี้ รัฐบาลจะทบทวนนโยบายเพื่อปูทางไปสู่การปิดโรงงานถ่านหิน โดยตั้งเป้าที่จะปิดโรงงานให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2578